วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

การดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ ฉบับเข้าใจง่าย

ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจทฤษฎีกฎหมายระหว่างประเทศตามพื้นฐานทฤษฎีให้เข้าใจเป็นเบื้องต้นเสียก่อน

การเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศนั้นมีขั้นตอนตามกฎหมาย แต่ผู้เขียนขออธิบายง่ายๆ ไม่เน้นถ้อยคำภาษากฎหมายระหว่างประเทศมากนัก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้

การที่ประเทศต่างๆ ร่วมกันทำสนธิสัญญาระหว่างกัน โดยมีประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีนั้น ประเทศต่างๆ ที่พึงพอใจต่ออนุสัญญาดังกล่าวจะมาลงนาม เข้าชื่อ ว่าฉันสนใจ ขอเข้าร่วมด้วย หลังจากลงนามกันแล้ว ต้องมีการทำสัญญากันอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า การให้สัตยาบัน ดังนั้น ลำพังเพียงแต่ลงนามครั้งแรก ยังไม่ถือว่าเป็นภาคีสมาชิก เมื่อให้สัตยาบันแล้ว แต่ละประเทศ ต้องไปดำเนินการออกกฎหมายภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับสัญญาที่ได้ลงนาม เรียกว่า ออกกฎหมายอนุวัติการณ์ตามสนธิสัญญาที่เราไปลงนามไว้

ยกตัวอย่างเช่นกรณีการก่อการร้าย การก่อการร้ายนี้ เราให้สัตยาบันและออกกฎหมายอนุวัติการไว้แล้ว โดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๕ เพิ่มเติมเข้าไป ว่าด้วยการก่อการร้าย จึงถือว่า เราได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว ที่เหลือหากต้องการให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เราต้องดำเนินการขอตัวผู้ร้ายไปยังประเทศที่เป็นภาคี กรณีมอนเตฯ
มีรัฐธรมนูญภายในประเทศ ห้ามส่งตัวพลเมืองของตนเองไปรับโทษยังประเทศอื่น ไม่ใช่ประเด็นว่าการกระทำของ ทักษิณเป็นการก่อการร้ายหรือไม่

อุปมาเหมือน เวลาเรารักชอบใครสักคน ตกลงคบหากัน เราจะบอกรักกัน นั่นคือการลงนาม เสร็จแล้วคบหาดูใจกัน ในช่วงนี้ยังไม่มีความผูกพันต่อกัน จะคบจะเลิกยังไงก็ทำได้ เมื่อตกลงกันได้ว่าจะแต่งงานกัน ทั้งสองฝ่ายต้องมาทำการจดทะเบียนสมรสกัน อุปมาเหมือนการให้สัตยาบัณในสนธิสัญญา ในช่วงนี้ความผูกพันทางกฎหมายเริ่มขึ้นแล้ว ก่อนจะจดทะเบียนสมรสทั้งสองฝ่ายต้องจัดการปัญหาหน้าที่การงาน ให้ลงตัวจัดสรรบ้านช่องห้องหอสำหรับที่จะอยู่ร่วมกัน อุปมาเหมือนเตรียมออกกฎหมายอนุวัติการณ์ แล้วจึงมาจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อจดทะเบียนสมรสเสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ย้ายมาอยู่ร่วมกัน อุปมาเหมือนการออกกฎหมายภายในประเทศอนุวัติการณ์ให้เป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ดังนั้น หากมีการลงนามแต่มิได้ให้สัตยาบัณ ก็ยังไม่อาจถือว่าเป็นคู่สัญญา โดยเฉพาะในสนธิสัญญาพหุภาคี ซึ่งมีสมาชิกหลากหลายมากมาย

ประเทศต่างๆ 108 ประเทศจึงเข้าร่วมลงนามในธรรมนุญกรุงโรม รวมถึงประเทศไทย แต่ประเทศไทย ไม่ได้เข้าให้สัตยาบัณอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ถือว่าเป็นภาคีสมาชิกธรรมนุญกรุงโรม ไม่อยู่ในบังคับของศาลอาญาระหว่างประเทศ

แต่อย่างไรก็ดี ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาแล้วแต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน ก็ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์แห่งสนธิสัญญาที่ได้ลงนามไป ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ได้เพิกถอนการลงนามของตน และแถลงว่าขอถอนตัวจากการลงนาม กล่าวง่ายๆ คือ ไม่ยอมรับ และไม่ให้ความสนใจกับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศอีกต่อไป จึงไม่เคยมีกรณีที่สหรัฐอเมริกานำใครขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศหรือถูกฟ้องในศาลอาญาระหว่างประเทศเลย

สำหรับประเทศไทย ที่ยังมิได้ให้สัตยาบัณ สาเหตุหลักคงติดอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม หากเกิดมีการทำสงคราม ซึ่งมีข้อหาอาชญากรสงครามระบุอยู่ในธรรมนูญกรุงโรม พระมหากษัตริย์ไทยมิต้องทรงขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศดอกหรือ

การเลิกสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ศึกษากรณีMOU 43



ตามที่ปรากฎข้อสัญญาต่างๆ ตาม mou 43 ในส่วนของการเลิกสัญญาที่มีปัญหาว่าจะกระทำได้หรือไม่ ขอสรุปเนื้อหาไว้ดังนี้ 1. เอ็มโอยู ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์เพื่ออะไร เจตนารมณ์หลักของเอ็มโอยูฉบับนี้คือเพื่อกระชับมิตรและความสัมพันธ์ ดังนั้น จึงนำมาซึ่งการเจรจาหากประสบหรือพบปัญหาจากเอ็มโอยูฉบับนี้ ตามที่ปรากฎในข้อ 8 แห่งเอ็มโอยูนี้ว่า ให้ระงับข้อพิพาท "โดยสันติวิธี" ด้วยวิธีการปรึกษาหารือหรือการเจรจา อีกทั้งไม่ปรากฎพบว่า เอ็มโอยูฉบับนี้มีข้อสงวนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกสัญญาได้แต่เพียงลำพัง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะต้องการกระชับสัมพันธ์ ทำอะไรก็ตกลงร่วมกัน เหมือนคนจะแต่งงานกัน อะไรก็ได้นะที่รัก มีอะไรเราจะปรึกษากัน จัดการทรัพย์สินร่วมกัน ลองมาดูกฎหมายไทยเปรียบเทียบ


เอ็มโอยูใดๆ ก็เหมือนกับการที่คนสองคนแต่งงานกัน เหมือนกันอย่างไรหรือคะ เหมือนกันตรงที่ 1. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูเป็นเรื่องของนิติกรรมสัญญา นิติกรรมสัญญาคือ การกระทำใดๆ ที่ทำลงด้วยความสมัครใจ (ในตัวบทเขียนว่าใจสมัคร) ไม่ขัดต่อกฎหมาย กล่าวคือ ไม่ผิดกฎหมาย เช่น การสมรส การซื้อขาย แต่ถ้าซื้อขายอาวุธเถื่อนนี่ไม่ใช่นิติกรรมแล้วเพราะขัดต่อกฎหมาย และมีผลทางกฎหมายในการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับสิทธิ ดังนั้น การสมรสกับเอ็มโอยูจึงเป็นเรื่องของสัญญาเหมือนกัน 2. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูเป็นเรื่องของคนสองคน การสมรสเป็นเรื่องของชายหญิงคู่สมรส เอ็มโอยูเป็นเรื่องของคนหนึ่งชื่อประเทศไทย อีกคนหนึ่งชื่อประเทศกัมพูชา 3. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูเป็นเรื่องของความสมัครใจและตกลงทุกอย่างร่วมกันของคู่สัญญา ในการสมรสต้องได้กระทำโดยความสมัครใจจะสมรส ในการทำเอ็มโอยูก็เช่นกัน ต้องสมัครใจในการจะทำสัญญาร่วมกัน ทุกอย่างต้องร่วมกัน เหมือนคู่สมรส ต้องร่วมกันในทุกอย่าง เช่น ร่วมประเวณี (อันนี้ไม่ทะลึ่งเพราะหากไม่มีการร่วมประเวณีศาลเคยพิพากษาแล้วว่ามิได้มีเจตนาจะสมรส เกิดขึ้นกรณีสมรสเพื่อสัญชาติ) ร่วมกันจัดการทรัพย์สิน ร่วมกันเลี้ยงดูบุตรฯลฯ เอ็มโอยูก็เช่นกัน ทุกอย่างต้องร่วมกัน เช่น ร่วมกันปักปันเขตแดน ร่วมกัน ฯลฯ 4. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ได้ ทะเบียนสมรสนี้หากก่อนสมรสมิได้มีการทำสัญญาก่อนสมรสว่าให้ฝ่ายใดมีอำนาจจัดการทรัพย์สินตามลำพัง การจัดการทรัพย์สินต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบํัญญัติตามมาตรา 1476 คือจัดการร่วมกัน เอ็มโอยูก็เหมือนกัน เมื่อทำเอ็มโอยูแล้วจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ โดยปราศจากความยินยอมของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ 5. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูจะยุติสถานภาพได้ ต้องตกลงร่วมกัน คือ การสมรสต้องหย่ากันด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ในเมื่อสมัครใจแต่งต้องสมัครใจหย่า หากไม่ยอมหย่าแต่มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 สามารถฟ้องหย่าได้ เป็นการบังคับให้หย่าโดยอาศัยอำนาจศาล เอ็มโอยูก็เช่นกัน เมื่อจะเลิกต้องทำร่วมกัน เมื่อจูงมือกันทำสัญญาจะเลิกสัญญาต้องจูงมือกัน หากไม่ยอมเลิกสามารถใช้อำนาจศาลได้หากมีข้อสงวน แต่นี่เอ็มโอยู ไม่มีข้อสงวนใดๆ

การยกเลิกเอ็มโอยู จึงต้องกระทำลงโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น อันนี้เป็นหลักสากลทั่วโลก หลักเดียวกันหมดค่ะ เริ่มด้วยอะไรจบด้วยอย่างนั้น เช่น กรณีศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ จะเลิกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องด้วยคำสั่งศาลเท่านั้น เป็นต้น ปัญหาว่า รัฐบาลไทยสามารถนำเอ็มโอยู เข้าสภาแล้วแก้ไขให้มีบทลงโทษในกรณีกัมพูชาละเมิดข้อตกลงในข้อ 5 ตามเอ็มโอยูนี้ได้หรือไม่

ตอบว่าได้ แต่สุดท้ายต้องไปถามกัมพูชาว่า เอ็งจะยอมมาแก้ข้อสัญญากับข้าหรือเปล่าเสียก่อน เพราะจุดบกพร่องในข้อ 5 คือ ไม่มีบทลงโทษ ยกตัวอย่างเช่น การถือสัญชาติหลายสัญชาติร่วมกับสัญชาติไทย อันที่จริงกฎหมาย พรบ.สัญชาติห้ามนะคะ หากถือสัญชาติอื่นต้องสละสัญชาติไทย แต่ที่ถือๆ กันได้เพราะกฎหมายไม่มีบทลงโทษค่ะ เรียกว่าเป็น Law Enforcement คือกฎหมายขาดสภาพบังคับ หากสนใจเรื่องนี้อ่านได้ที่นี่ http://natjar2001law.blogspot.com/2011/01/blog-post_08.html จึงปรากฎพบว่า คนไทยถือหลายสัญชาติ ต่างกับประเทศเยอรมัน หากต้องการถือสัญชาติเขาต้องสละสัญชาติอื่น หรือถ้าพบว่าแอบไปถือสัญชาติอื่นร่วมในภายหลังเขาจะถอนสัญชาติทันที

ปัญหาว่า เราสามารถใช้กำลังทางทหารเข้าขับไล่ประชาชนกัมพูชาได้หรือไม่ ตอบว่าได้ แต่ต้องดูผลกระทบด้วย ถามว่าต้องแคร์สายตาประเทศต่างๆ หรือไม่ อันนั้นสุดแท้แต่ความคิดใครความคิดมัน หากไม่แคร์รบไปเลย เอาบอมส์ไปลงกัมพูชาเลยก็ทำได้ รบไปไม่ต้องสนใจสนธิสัญญาอื่นๆ เช่น สนธิสัญญาเจนนิวา คนสวยไม่แคร์สื่อ จัดไปได้ แต่สุดท้ายคนที่มีเมตตาต้องมองว่าใครลำบาก และที่สุดการที่เราเอากำลังทางทหารเข้าไปจัดการรื้อถอนหรือกระทำอย่างใดๆ ก็ตาม เราเป็นฝ่ายละเมิดสนธิสัญญาและจะถูกกล่าวหาในข้อนั้นด้วยหรือไม่

แก้ปัญหาด้วยการไล่คนกัมพูชากลับให้หมด ทั้งเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก็เอามาลงโทษเสีย และคนที่มีใบอนุญาติทำงานก็ถอนเสียและส่งตัวกลับทำได้หรือไม่ ถ้าจะทำก็ทำได้ เราสามารถออกกฎหมายมารองรับได้ และไม่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังด้วย เพราะการใช้กฎหมายย้อนหลังนั้นต้องห้ามเฉพาะการใช้กฎหมายอาญา กฎหมายอาญาคือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น การส่งตัวกลับไม่ใช่โทษทางอาญาสามารถออกกฎหมายมารองรับเพื่อขับไล่ได้ แต่ ถามเจ้าของธุรกิจที่รับแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นหรือยัง แน่ใจหรือเปล่าว่าเขาจะไม่ออกมาประท้วงรัฐบาลอีก และหากเขาประท้วงจะแก้ไขอย่างไร อย่าลืมว่าธรรมชาติมนุษย์สนใจปากท้องตัวเองก่อนเสมอ

ปัญหาว่า มีหนทางที่จะทำให้เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นโมฆะหรือไม่ เราต้องศึกษาเรื่องความเป็นโมฆะของสัญญาเสียก่อน

สัญญาจะเป็นโมฆะเมื่อ

ก. นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือมีวัตถุเป็นการพ้นวิสัย อันนี้หลักเดียวกันทุกประเทศ ที่พันธมิตรกำลังบอกว่า เอ็มโอยูนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชา ต้องไปพิจารณาว่าขัดจริงหรือไม่ และพิจาณาอีกว่า เมื่อขัดแล้วใครหล่ะจะยกเลิกหรือเพิกถอนได้ ไทยทำได้มั้ย อาศัยกฎหมายอะไร เช่น ไทยบอกเอ้ยนี่ขัดนะเป็นโมฆะ เขาถามกลับมาโมฆะแล้วไง การเป็นโมฆะ ไม่อัตโนมัติ ไม่ใช่ใครก็ยกขึ้นกล่าวอ้างได้ โมฆะเดียวที่ผู้มีส่วนได้เสียยกขึ้นกล่าวอ้างได้โดยไม่ต้องอาศัยคำพิพากษาของศาลคือการสมรสซ้อน ที่ผู้มีส่วนได้เสียกล่าวอ้างได้เลย ถามว่า ไทยเอาขึ้นศาลไทยให้พิพากษาว่าเอ็มโอยูนี้ขัดรฐน.กัมพูชาแล้วพิพากษาเป็นโมฆะ เอาไปยันกัมพูชาได้หรือไม่ตอบว่าไม่ได้ เพราะศาลไทยไม่มีอำนาจเหนืออธิปไตยกัมพูชา

ข. นิติกรรมมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ อันนี้ไม่มีปัญหา เพราะเป็นไปตามแบบทุกประการ

ค. นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาที่ไม่ตรงกับเจตนาในใจจริง โดยที่คู่กรณีอีกฝ่ายรู้ กรณีนี้ตรงกับเจตนา เจตนารมณ์ของสัญญาเขียนไว้ชัดเจนแล้วเข้าใจดีแล้วทั้งสองฝ่าย

ง. นิติกรรมที่เกิดจากเจตนาลวง โดยคู่กรณีสมคบกันทำขึ้นเพื่อลวงคนอื่น โดยที่มิได้มีเจตนาทำนิติกรรมเพื่อให้ผูกพันทางกฎหมาย อันนี้ไม่มีการหลอกลวงกันให้เข้าทำเอ็มโอยู

จ. นิติกรรมที่เกิดโดยการแสดงเจตนา ด้วยความสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ไม่ปรากฎว่า สำคัญผิดในสาระสำคัญแต่อย่างใด

ฉ. นิติกรรมที่เป็นโมฆียะและถูกบอกล้างแล้ว ข้อนี้ไม่เข้า

ช. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับหลังเมื่อเงื่อนไขสำเร็จแล้วตั้งแต่เวลาทำนิติกรรมหรือนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจสำเร็จได้ เงื่อนไขยังไม่ได้ทำด้วยซ้ำไปข้อนี้ไม่เข้าอีก

ซ. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ปรากฎพบว่านิติกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ฌ. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จหรือไม่ สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้เท่านั้น ข้อนี้ก็ไม่เข้า

ฎ. กรณีอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกรณีนี้กำหนดไว้อีกแล้ว

ดังนั้นต้องไปดูความเป็นโมฆะของสัญญาในประเทศกัมพูชาว่าต่างกันมั้ย โดยเบื้องต้น "ไม่น่า" ต่างกันเพราะลอกมาจากแหล่งเดียวกันหมด

ต่อมา mou นี้มีผลผูกพันในฐานะสัญญาจริงหรือไม่

mou คือ บันทึกความเข้าใจ Memorandum Of Understan ding เป็นหนังสือซึ่งฝ่ายหนึ่งแสดงความสมัครใจจะปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด และตามเงื่อนไขที่ปรากฏในหนังสือนั้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง ในทางธุรกิจ อาจจะไม่ถือว่าเป็นสัญญาต้องทำสัญญากันอีกชั้นหนึ่งเสียก่อน แต่อย่างไรก็ดี mou คือความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำสัญญาตามบันทึกความเข้าใจ ในทางปฏิบัติเมื่อทำเอ็มโอยูเป็นอย่างไรแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโดยลำพังได้ และสัญญาจะระบุข้อสัญญาตามเอ็มโอยูทุกประการ

แต่ในทางการทูตหรือในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เป็น “สนธิสัญญา” ซึ่งมีสถานะเท่าเทียมและเป็นอย่างเดียวกัน “ความตกลง” (agreement) “ข้อตกลง” (arrangement) “บันทึกความตกลง” (me morandum of agreement) “พิธีสาร” (protocol) “อนุสัญญา” (Convention) ฯลฯ ดังนั้น หากบันทึกใดๆ ได้ทำตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้วไม่ว่าจะชื่ออะไรมันคือ “สนธิสัญญา” ทั้งสิ้น ผลผูกพันไม่อาจปฏิเสธหรือเล่นลิ้นได้เลย

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ การที่กัมพูชานำคนเข้ามาอยู่ในพื้นที่พิพาท เป็นการละเมิดข้อสัญญาถึงขนาด ย้ำนะคะ ถึงขนาดทำให้ไม่สามารถปักปันเขตแดนสำเร็จได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎ เพราะยังไม่มีการปักปันเขตแดนและรู้ชัดว่าไม่อาจทำได้สำเร็จ ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจกระทำได้ แต่หากว่ามีการตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าไปปักปันได้ กรณีนี้อาจจะเกิดเงื่อนไขให้บอกเลิกสัญญาได้

เงื่อนไขของการเกิดภาวะสงคราม ซึ่งหากไทยทำสงครามกับกัมพูชา เอ็มโอยูจะถูกยกเลิกไปโดยเงื่อนไขนี้ แต่ถามว่าคุ้มหรือไม่ ข้าวจะยากหมากจะแพง ภาษีจะต้องขึ้น เพราะต้องระดมเงินไปซื้ออาวุธทำสงคราม และบำรุงกำลังพล (ตามมีตามเกิด)

ทางออกของเรื่องนี้จึงควรเดินหน้าปักปันเขตแดน และหากไม่สามารถปักปันได้เพราะเหตุคู่สัญญาเข้าขัดขวางจึงจะเกิดเงื่อนไขในการเลิกสัญญาต่อไป




วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

การเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

การเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย (นิติศาสตร์) จำเป็นต้องศึกษาและฝึกฝน เพราะการเขียนตอบข้อสอบมีระเบียบวิธีในการเขียน ซึ่งหากไม่ศึกษาจะทำให้การเขียนตอบไม่คลอบคลุมประเด็น และจบไม่ลง ผักบุ้งโหลงเหลง เข้่าป่าเข้าดง หาจุดยุทธศาสตร์ไม่เจอ ในการเรียนกฎหมาย แม้ว่าเราจะรู้หรือเก่งแค่ไหน แต่การประเมินผลจะถูกประเมินจากการเขียน ดังนั้น การเขียนอย่างมีกึ๋นจึงมีความจำเป็น เพราะจะแสดงภูมิความรู้ให้ปรากฎได้ด้วยการเขียนตอบแบบถูกต้องตามระเบียบวิธีทางนิติศาสตร์

คำถาม นายดำ จดทะเบียนรับ ด.ญ.แดง เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาเมื่อ ด.ญ. แดง โตขึ้น นายดำ ประสงค์จะแต่งงานกับ ด.ญ.แดง และจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้วินิจฉัยว่านายดำ สามารถกระทำได้หรือไม่ เป็นกรณีที่กฎหมายห้ามไว้หรือไม่ และจะมีผลเป็นอย่างไร


การตอบข้อสอบกฎหมาย ต้องแบ่งเป็นสามช่วง อันนี้เป็นการตอบแบบ ป.ตรี ถ้าสอบเนฯ ตอบแบบนี้ไม่ได้ เพราะจะทำไม่ทัน ยิ่งสอบผู้ช่วยยิ่งไม่ทัน เพราะการสอบเนฯ มีเวลา 23 นาทีในแต่ละข้อเพื่อนอ่านคำถาม คิด และ เขียนตอบ การสอบผู้ช่วยมีเวลา 18 นาทีสำหรับแต่ละข้อ การเขียนข้อสอบในระดับปริญญาตรีต้องแบ่งเนื้อหาการเขียนออกเป็นสามช่วง

ช่วงที่ 1 เรียกว่า "หลักกฎหมาย"
ช่วงที่ 2 เรียกว่า "วินิจฉัย"
ช่วงที่ 3 เรียกว่า "สรุป"


กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้ (อันนี้ต้องเขียนเป็นรูปแบบตามนี้เลย ถ้าเป็นอาญา ก็บอกอาญา เป็นกฎหมายไหนก็บอกกฎหมายนั้น )

หลักกฎหมายที่ 1 ...................................(ใส่ตัวบทไป ไม่ต้องใส่เลขมาตรา)
หลักกฎหมายที่ 2......................................
หลักกฎหมายที่ 3........................................ มีกี่หลักก็ใส่ไป

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า (ใช้คำนี้เวลาขึ้นต้นส่วนวินิจฉัย) นายดำ จดทะเบียนรับ ด.ญ.แดง เป็นบุตรบุญธรรม นายดำจึงเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและ ด.ญ.แดงเป็นบุตรบุญธรรมของนายดำตามกฎหมาย บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ (อันนี้เป็นหลักกฎหมายที่เรายกมาสอดใส้) หากนายดำประสงค์จะสมรสกับ ด.ญ.แดง นิติกรรมการรับบุตรบุญธรรมที่นายดำได้ทำไว้นั้นเป็นอันต้องยกเลิกกันไป นายดำและ ด.ญ. แดง จึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมกันอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี (เราใช้คำนี้ ต่อเมื่อการตอบต้องตอบในอีกมุมหนึ่งที่ขัดกับย่อหน้าแรก) กฎหมายมิได้บัญญัติให้การสมรสที่ฝ่าฝืนต่อการรับบุตรบุญธรรมนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น จึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายห้ามทำการสมรส การสมรสของนายดำและด.ญ.แดงจึงสมบูรณ์
จึงวินิจฉัยว่า (ส่วนสรุปนี้ ให้ดูที่คำถาม เขาถามว่าอะไร เขาบอกให้วินิจฉัย ต้องตอบจึงวินิจฉัย ถ้าเขาถามว่า ดังนั้น ต้องตอบดังนี้ ถ้าถามดังนี้ต้องตอบดังนั้น ถ้าบอกว่า ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะพิพากษาคดีนี้อย่างไร ต้องตอบว่า จึงพิพากษาว่า เหมือนผีเน่ากับโลงผุ ให้มันล้อกันไปเสมอ) การสมรสมีผลสมบูรณ์ (ตอบสั้นๆ ไม่ต้องให้เหตุผลอะไรอีก ถ้าเป็นอาญา ก็ตอบสั้นๆ เช่น นายดำมีความผิดฐาน.... แล้วพอ) จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น (อันนี้การลงจบแบบสวยงามเหมือนเล่นขิมแล้วลงท่อนเอื้อน)

เมื่อเีขียนตามวิธีดังกล่าวจะได้ฉบับแบบเต็มตามนี้

กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ...................................
หลักกฎหมายที่ 2......................................
หลักกฎหมายที่ 3........................................

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายดำ จดทะเบียนรับ ด.ญ.แดง เป็นบุตรบุญธรรม นายดำจึงเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและ ด.ญ.แดงเป็นบุตรบุญธรรมของนายดำตามกฎหมาย บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ หากนายดำประสงค์จะสมรสกับ ด.ญ.แดง นิติกรรมการรับบุตรบุญธรรมที่นายดำได้ทำไว้นั้นเป็นอันต้องยกเลิกกันไป นายดำและ ด.ญ. แดง จึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมกันอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี กฎหมายมิได้บัญญัติให้การสมรสที่ฝ่าฝืนต่อการรับบุตรบุญธรรมนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น จึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายห้ามทำการสมรส การสมรสของนายดำและด.ญ.แดงจึงสมบูรณ์
จึงวินิจฉัยว่า การสมรสมีผลสมบูรณ์ จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

สุดท้าย ทั้งหมดต้องอาศัยทักษะ จึงต้องฝึกฝนให้ดี ให้ชำนาญ มิเช่นนั้นเวลาตอบข้อสอบจริงๆ จะไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและไม่ตกหล่นคลอบคลุมได้ทั้งหมดอย่างมีคุณภาพ


วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญา 1

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดีให้เชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง หากไม่สามารถรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้กับจำเลย ดังนั้นในส่วนของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญานี้ เราจำเป็นต้องศึกษาเพื่อพิจารณาว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้หรือไม่ และมีน้ำหนักอย่างไร ในส่วนนี้จึงขอแบ่งน้ำหนักพยานหลักฐานออกเป็นสามกรณี

1. รับฟังได้มีน้ำหนักมาก ได้แก่ ประจักษ์พยาน และพยานชั้นหนึ่ง
2. รับฟังได้มีน้ำหนักน้อย ต้องฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น ได้แก่ พยานบอกเล่า พยานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ฯลฯ
3. รับฟังไม่ได้เลย เพราะ ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติว่า

มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่า จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่นและให้สืบตามบท บัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการ สืบพยาน

มาตรา 226 นี้มีลักษณะเป็นบทตัดพยาน ซึ่งจะบัญญัิติไว้ว่าพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องและพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสิทธิ์เท่านั้นที่อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ สามารถแยกออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. พยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี จะนำมาสืบไม่ได้ ศาลจะรับฟังมาชั่งน้ำหนักไม่ได้
เช่นโจทก์อ้างพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประวัติอาชญากรรมของจำเลยมารับฟังว่าจำเลยกระทำ
ความผิดในคดีที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

2. คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมจะนำมารับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดไม่ได้ เว้นแต่เป็นถ้อยคำอื่นที่มิใช่คำรับสารภาพ ตาม ป.วิ.อ มา 84 วรรค 4 ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความ ผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อ ได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตาม มาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี เช่น นายดำถูกจับข้อหาลักทรัพย์ ขณะจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจถามว่า นายดำลักทรัพย์จริงหรือไม่ นายดำรับสารภาพว่าได้ลักทรัพย์จริง ถ้อยคำดังกล่าว ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักรับฟังว่านายดำกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้ ส่วนถ้าเป็นถ้อยคำอื่นเช่น ถ้อยคำซัดทอด ถ้อยคำบอกเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ สามารถรับฟังได้เมื่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมได้ทำการแจ้งสิทธิตามมาตรา 83 เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การจับกุมโดยไม่แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามมาตรา 83 ให้แก่ผู้ถูกจับทราบ ทำให้การจับกุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป หากสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการสามารถฟ้องคดีได้ ผลของการจับกุมโดยไม่แจ้งสิทธิเพียงแต่ทำให้ถ้อยคำของผู้ถูกจับไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้เท่านั้น

3. พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ พยานหลักฐานที่
3.1 ได้มาโดยการจูงใจ เช่น จูงใจผู้ต้องหาว่าหากไปล่อซื้อยาเสพติดให้จะไม่ดำเนินคดี ถ้อยคำเช่นนี้เป็นการจูงใจ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากาษาฎีกาที่ 1839/2544 ส. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจาก ส. แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจเสนอว่าหาก ส. ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้จำหน่ายให้ก็จะไม่ดำเนินคดี ส. จึงไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย การที่ ส. มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ จึงเป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจและให้คำมั่นสัญญาโดยมิชอบของ เจ้าพนักงานตำรวจ รับฟังเป็นพยานไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

3.2 พยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อซื้อ โดยผู้กระทำการล่อซื้อไม่มีอำนาจเท่ากับเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด พยานหลักฐานนั้นฟังไม่ได้เลย เพราะการล่อซื้อคือการล่อเพื่อนำพยานหลักฐานให้ปรากฎต่อศาล ดังนั้น ผู้ถูกล่อต้องมีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว หากไม่มีเจตนากระทำความผิดมาก่อน แล้วไปก่อให้เขากระทำความผิด เท่ากับมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด และผู้ล่อต้องเป็นผู้ที่กฎหมายให้อำนาจล่อด้วย มิใช่ใครๆ ก็จะสามารถล่อได้

การใช้สายลับไปล่อซื้อของที่ผิดกฎหมายจากผู้ที่มีเจตนากระทำความผิดอยู่แล้ว ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น พยานหลักฐานที่ใช้ในการล่อซื้อจึงรับฟังได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 8187/2543 การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226


ในทางกลับกัน หากเป็นพยานหลักฐานที่ได้จากการล่อซื้อผู้ซึ่งมิได้มีอำนาจในการล่อซื้อ และได้กระทำต่อผู้ซึ่งไม่มีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว พยานหลักฐานที่ได้มานั้นรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 จำเลยที่ 1 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องก่อนที่ ส. ซึ่งรับจ้างทำงานให้โจทก์จะไปล่อซื้อ แต่จะมีการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลังจากที่ ส. ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องการแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ ส. ตามที่ได้ตกลงกันในวันที่ ส. ไปล่อซื้อ พนักงานของจำเลยที่ 1อาจนำแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบเข้ามาใช้เป็นต้นแบบบันทึกถ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไปในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่ ส. ล่อซื้อในช่วงเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โรงงานเสร็จและส่งไปที่สำนักงานจำเลยที่ 1 เพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อตามเวลาที่นัดไว้ การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ ส. ล่อซื้อนั้นเป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจากวันที่ ส. ไปล่อซื้อแล้วเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำให้แก่ ส. มิใช่ทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ น่าเชื่อว่าการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้


ต่อตอนที่สองในครั้งหน้า

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การบอกล้างโมฆียะกรรม ภาพจำลองระยะเวลาการบอกล้าง






การบอกล้างโมฆียกรรม

มาตรา 175 โมฆียกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทน โดยชอบธรรม

(2)บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีแต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์

(3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่

(4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว

ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตาย ก่อนมีการบอกล้างโมฆียกรรมทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียกรรมนั้นได้

จากมาตรานี้ ผู้มีสิทธิบอกล้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความสามารถคือบุคคลตาม (1) (2) (4) และทายาทของบุคคลดังกล่าวตามวรรคท้ายคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถบอกล้างได้ ส่วน (3) นั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเรื่องของการบอกล้างโมฆียกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล

ผลของการบอกล้าง

มาตรา 176 โมฆียกรรมเมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกและให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

การกลับคืนสู่ฐานะเดิม คือการให้คู่กรณีกลับไปเป็นเหมือนกับไม่ได้เคยทำนิติกรรมกันมาก่อนเลยเช่น หากผู้เยาว์นำทรัพย์ไปขาย เมื่อบอกล้างแล้ว ผู้ซื้อต้องคืนที่ดินมา ฝ่ายผู้เยาว์ต้องคืนเงินไป ถ้าหากฝ่ายใดคืนไม่ได้ต้องใช้ค่าเสียหาย เช่นผู้ซื้อนำที่ดินไปขายต่อแล้ว ก็ต้องคืนมาเป็นค่าเสียหายชดใช้แทน

มาตรา 181 โมฆียกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

มาตรานี้เป็นเรื่องระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะ คือจะบอกล้างเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่อาจให้สัตยาบันได้ (คำว่าอาจให้สัตยาบันได้คือการรู้ถึงการทำนิติกรรมนั้นนั่นเอง ถ้ารู้แล้วก็อาจให้สัตยาบันได้ ถ้าไม่ให้สัตยาบันก็อาจบอกล้างได้นั่นเอง) แต่อย่างไรก็ตามหากไม่รู้ว่ามีการทำนิติกรรมนั้น ก็สามารถบอกล้างได้ภายใน 10 ปี ถ้าไม่รู้จนล่วงเลย 10 ปีแล้ว ไม่สามารถทำอะไรได้อีก นิติกรรมนั้นก็เป็นนิติกรรมที่บริบูรณ์แล้ว

ตัวอย่างเช่น นายดำ ผู้เยาว์ ทำนิติกรรมซื้อรถยนต์ในวันที่ 1 เมษายน 2550 ผู้แทนโดยชอบธรรมทราบเรื่องเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2552 และประสงค์จะบอกล้าง ต้องบอกล้างภายในวันที่ 25 เมษายน 2553 (ภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้) แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใน 10 ปี ดังนั้น หากผู้แทนโดยชอบธรรมทราบเรื่องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 จะต้องบอกล้างภายในวันที่ 1 เมษายน 2560 ไม่ใช่ 25 มีนาคม 2561 เพราะไม่ว่ารู้เมื่อไหร่ก็ตาม จะบอกล้างได้ต้องอยู่ภายใน 10 ปี


หมายเหตุ ภาพจำลองนี้มิได้ใช้เฉพาะกับการบอกล้างโมฆียกรรมแต่เีพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปรับใช้กับอายุความทุกอย่าง เช่น อายุความในคดีละเมิด ที่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เหตุละเมิดได้เกิดขึ้นด้วย

เช่น นายดำ ขับรถยนต์ชนนายแดง ในวันที่ 5 มกราคม 2542 นายแดงต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผุ้กระทำละเมิด คือวันที่ 5 มกราคม 2543 แต่หากนายแดงสลบไป และฟื้นขึ้นมาได้รู้เรื่องดังกล่าวในวันที่ 10 มกราคม 2542 นายแดงต้องฟ้องภายใน 10 มกราคม 2543 แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรก็ตาม ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 10 ปี คือ ภายในวันที่ 5 มกราคม 2553 เช่น นายแดงฟื้นและมีสติสมบูรณ์รู้เรื่องราวต่างๆ ในวันที่ 1 มกราคม 2553 นายแดงต้องฟ้องภายในวันที่ 5 มกราคม 2553


กฎหมายแพ่งว่่าด้วยบุคคล 9 การทำนิติกรรมของคนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา 32 บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หลักเกณฑ์การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นคือคนปกติ เพียงแต่มีความประพฤติที่ไม่ดี หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบเท่านั้น ไม่ถึงกับวิกลจริต คนเสมือนไร้ฯ คืนคนที่

1. กายพิการ หรือ

2. มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือ

3. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือ

4. ติดสุรายาเมา หรือ

5. มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว

กายพิการ หมายถึงเหตุบกพร่องทางร่างกายไม่ว่าจะมีมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ เป็นอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่บุคคลที่มีกายพิการเหล่านี้อาจมีสติสมบูรณ์เหมือนคนทั่วไปก็ได้

จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คือ ผู้มีสภาพจิตไม่ปกติ การสั่งงานทางสมองไม่ปกตินั่นเองแต่ไม่ถึงกับวิกลจริต มีความรู้สึกรู้ผิดชอบอยู่บ้าง เช่น คนปัญญาอ่อนที่เป็นไม่มากสามารถเรียนรู้ได้ เป็นต้น

ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ คนพวกนี้มีความประพฤติที่อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่ครอบครัวหรือบุคคลอื่นได้ เช่น พวกป๋าขา ขาเท เทกระเป๋าแบบไม่อั้น จ่ายแบบไร้เหตุผล หากจ่ายมาก ๆ จนถึงขั้นกระทบกระเทือนความมั่นคงในครอบครัวก็อาจถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนฯ ได้ หรือ พวกชอบเล่นการพนัน หมกมุ่นอยู่ในการพนัน จนไม่เป็นอันทำงานการเป็นหนี้เป็นสินอันเกิดจากการพนัน อาจทำให้ครอบครัว ลูก เมีย ได้รับภัยพิบัติได้ พวกนี้อาจถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ฯ ได้

ติดสุรายาเมา พวกที่ติดสิ่งเสพติดนา ๆ ชนิด เมาทั้งวี่ทั้งวัน ไม่เป็นอันทำการงาน อาจถึงขั้นตบตีลูก เมีย สมองเสื่อมได้ ซึ่งเป็นการสร้างภัยพิบัติให้แก่ครอบครัว คนพวกนี้ก็เข้าข่ายถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนฯ ได้

มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น ในข้อนี้กฎหมายบัญญัติไว้เพื่ออุดช่องว่างในกรณีที่หาที่ลงตามข้อต่าง ๆ ไม่ได้ แต่บุคคลอาจสร้างภัยพิบัติได้ก็เข้าข้อดังกล่าว

เหตุบกพร่องดังกล่าว ทำให้

ไม่สามารถจัดทำการงานโดยตนเองได้ ซึ่งกรณีเป็นเรื่องสำคัญ หากเขายังสามารถจัดทำการงานโดยตนเองได้ก็ไม่สามารถร้องขอได้

จัดกิจการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนหรือครอบครัว ซึ่งหากแม้เขาจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ แต่การจัดทำการงานนั้นทำให้เสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนหรือครอบครัว เช่น ผู้ที่ชอบดื่มสุรา เวลาเมา เพื่อนยืมเงิน เท่าไหร่ได้หมด มีเช็คเซ็นต์เช็คจนเสียหายแก่ครอบครัว ใครต่อรองธุรกิจอย่างไรได้หมด ขายของก็ลดราคาจนขาดทุนหมด นี่แหละจัดการเสียหาย สามารถร้องขอได้

การตั้งผู้พิทักษ์

เมื่อศาลพิจารณาได้ความดังนั้นจริงแล้ว ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้พิทักษ์เพื่อดูแลบุคคลเสมือนไร้ความสามารถต่อไป

ผู้มีสิทธิร้องขอ

คือบุคคลตามมาตรา 28 นั่นเอง

การตั้งผู้พิทักษ์

ปัญหาว่าใครเป็นผู้พิทักษ์ก็อยู่ในหลักการเดียวกับการตั้งผู้อนุบาลนั่นเอง

ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา 34 คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(1) นำทรัพย์สินไปลงทุน

(2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(4) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

(5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี

(6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศลการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

(8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่

(10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์

(11) ประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลังศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้

ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรค 1 หรือวรรค 2 ได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่

สมประกอบศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ

จากบทบัญญัติมาตรา 34 จะเห็นได้ว่า นิติกรรมที่คนเสมือนฯ ไม่สามารถกระทำได้โดยลำพังจะถูกจำกัดไว้เพียง 11 กรณีเท่านั้น ดังนั้นโดยหลักแล้วคนเสมือนฯ สามารถทำนิติกรรมได้ทุกอย่างมีผลสมบูรณ์ทั้งสิ้น เว้นแต่ นิติกรรม 11 อย่างดังกล่าวซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ

ฎีกาที่ 5720/2546 คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมเองได้ทุกอย่าง เว้นแต่ต้องด้วยข้อจำกัด

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 ซึ่งจะทำได้เฉพาะเมื่อได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน รวมทั้งกรณีเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ตามมาตรา 34 (10) ผู้พิทักษ์จึงมีอำนาจหน้าที่เพียงให้ความยินยอมหรือไม่แก่คนเสมือนไร้ความสามารถในการฟ้องคดีเท่านั้น แต่ไม่มีบทบัญญัติใดใน ป.พ.พ. ให้อำนาจผู้พิทักษ์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ

หากคนเสมือนฯ ทำนิติกรรมทั้ง 11 ประการ โดยไม่ได้รับความยินยอมผลจะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ ซึ่งอาจถูกบอกล้างได้

หมายเหตุ คำว่า สังหาริมทรัพย์อันมีค่าตาม (8) หมายถึงสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายบังคับให้การซื้อขายต้องจดทะเบียน ตามมาตรา 456 เช่น เรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพและสัตว์พาหนะด้วย

ข้อยกเว้น ที่ผู้พิทักษ์มีอำนาจทำแทนคนเสมือนฯ จะอยู่ในวรรคสาม คือหากคนเสมือนฯ ไม่สามารถทำนิติกรรมเองได้เพราะกายพิการ หรือจิตฟั่นเฟือน ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์ทำแทนได้ซึ่งข้อควรระวังคือ แม้คนเสมือนไร้ฯ จะมีกายพิการ หรือจิตฟั่นเฟือน แต่ศาลไม่ได้สั่งให้ผู้พิทักษ์ทำแทน ผู้พิทักษ์จะทำแทนไม่ได้