วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เขตอำนาจศาลโลก

“ศาลโลก” หรือ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” International Court of Justice เป็นคนละศาลกับศาลอาญาระหว่างประเทศ International Criminal Court

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐใน ประเด็นกฎหมายและข้อเท็จจริงต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการตีความและการใช้กฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐนั้น คู่กรณีจะต้องเป็นรัฐด้วยกัน เช่น ประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา โดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ถ้าไม่ใช่รัฐบาลไม่อาจนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ ดังนั้น ฝ่ายการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ เช่น พธม. หรือ นปช. เอกชนหรือนิติบุคคลจะเป็นคู่กรณีในศาลโลกไม่ได้ ไม่อาจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องต่อศาลโลกให้วินิจฉัยได้เลย

ปัญหาข้อกฎหมายภายในของประเทศหนึ่งประเทศใด เช่น การเลือกตั้งเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม การทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ การตีความรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ที่เป็นกฎหมายบริหารจัดการภายในประเทศของแต่ละประเทศ ไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่จะวินิจฉัยได้ เพราะศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจวินิจฉัยกฎหมายภายในของแต่ละรัฐ อันเป็นการใช้อำนาจเหนืออำนาจรัฐต่างๆ

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่อาจรื้อคดีที่ได้พิจารณาไปแล้วขึ้นพิจารณาใหม่ได้อีก เพราะไม่มีศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ตามที่มีการกล่าวอ้างว่า หน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลใดจะฟ้องร้องประเทศไทย รัฐบาลไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่อาจทำได้เลย เพราะศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะพิจารณาคดีในกรณีคู่พิพาทเป็นรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น (เหมือนคำว่า สงครามที่หมายถึงการรบระหว่างรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่ง มิใช่การต่อสู้ของคนในรัฐเดียวกัน)

อย่างไรก็ดี พึงเข้าใจด้วยว่า การนำคดีขึ้นสู่ศาลโลกนั้น ต้องได้กระทำโดยสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายรัฐ (รัฐพิพาท) เพื่อให้ศาลโลกใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีนั้น ดังเช่นคดีเขาพระวิหารที่เราและกัมพูชาเคยจูงมือกันนำคดีขึ้นสู่ศาลมาแล้ว

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความผิดฐานทารุณสัตว์


วันก่อนเป็นความบังเอิญ ที่ลูกศิษย์ของผู้เขียน ได้ส่งลิงค์ของสุนัขจรจัดที่ถูกคนทำร้ายโดยทารุณโหดร้ายมาให้ดู ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านและติดตามเรื่องราวดังกล่าว รู้สึกสลดใจกับการกระทำของคนที่ได้ชื่อว่า "มนุษย์" ทำร้ายเบียดเบียนกันได้ถึงขนาดนี้ ในฐานะผู้เขียนเป็นนักวิชาการกฎหมาย แม้จะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของกรรม วิบากกรรม แต่ก็คงจะอดไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอข้อกฎหมายที่หลายท่านอาจจะไม่รู้ว่ามีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา นั่นคือความผิดฐานทารุณสัตว์


มาตรา ๓๘๑ ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดฐานนี้ คุณธรรมทางกฎหมายมิได้คุ้มครองตัวสัตว์ แต่คุณธรรมทางกฎหมายคุ้มครองศิลธรรมอันดีของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ในศิล บังคับให้มนุษย์ไม่กระทำผิดศิลในข้อ ปานาติบาต
แม้จะเป็นความผิดลหุโทษที่มีโทษเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการสอบสวนเอาโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้

ตราบที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ ไม่มีกฎหมายคุ้มครองศิลธรรมที่ดีงามของมนุษย์ที่พึงปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายแม้เป็นเพียงเดรัชฉาน เรายังคงต้องอาศัยประมวลกฎหมายอาญานี้ไปพลางก่อน

เหตุสมควรฆ่าชีวิตใดในโลกนี้ไม่มีเลย


วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ห้ามพระชุมนุมทางการเมือง พระไม่มีสิทธิเลือกตั้ง



ป็นธรรมดาที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องมีบุคคลผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหว การรวมตัวชุมนุมเพื่อแสดงพลัง นับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ได้ผล คงจะไม่แปลกอะไรหากผู้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิต่างๆ ก็ดี เข้าร่วมชุมนุมเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองหรือฝ่ายทางการเมืองฝ่ายใดฝ่านหนึ่งก็ดีนั้น เป็นฆารวาส แต่จะเป็นเรื่องน่าแปลกหากผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้นเป็นพระภิกษุ ด้วยการชุมนุมหรือเรียกร้องสิทธิทางการเมืองมิใช่เรื่องที่พระภิกษุพึงกระทำด้วยเหตุมิใช่กิจของสงฆ์

หากจะถามว่า การเลือกตั้งใช่กิจของสงฆ์หรือเป็นหน้าที่ของสงฆ์ สิทธิของสงฆ์ในฐานะประชาชนพึงกระทำได้หรือไม่ คงต้องอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๕ และ ๑๐๖ มาตอบ

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายถึง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สภาท้อง ถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นพิจารณา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันแล้ว จะพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ คือ

"มาตรา 105 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และ

(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งตามมาตรา 303 ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบัญญัติ"

"มาตรา 106 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ

(1) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

(4) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง"

ดังนั้น บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 105 และไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 106 แห่งรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้

มื่อพิจารณาได้ความแล้วว่า พระภิกษุ สามเรณ นักพรต หรือนักบวช ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะกระทำได้ในฐานะประชาชนชาวไทย


ปัญหาว่า คำสั่งของมหาเถระสมาคมนี้ใช่กฎหมายหรือไม่ หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษหรือไม่

เมื่อคำสั่งมหาเถระสมาคมฉบับดังกล่าว ได้ออกโดยอาศัยอำนาจ พรบ.คณะสงฆ์มาตรา ๑๕ ตรี ความว่า

มาตรา ๑๕ ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

(๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

(๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

(๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้


ดังนี้ คำสั่งมหาเถระสมาคมดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นกฎหมาย และมีบทลงโทษอย่างชัดเจน

สาระสำคัญของคำสั่งมหาเถระสมาคม

ข้อ 4 ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุม หรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ
การชุมนุม มีความหมายว่า
การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ

การเข้าไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุมเรียกร้องในความหมายดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะเข้าไปด้วยเหตุผลอย่างใด ก็ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด จะเข้าไปหาญาติ ไปตามเพื่อนพระที่เข้าไปชุมนุมก็ไม่อาจจะกระทำได้โดยเด็ดขาด

ข้อ 5 ห้ามพระภิกษุสามเณรทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่การหาเสียง เพื่อการเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใดแก่บุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ

การกระทำอันเป็นการสนับสนุน หมายถึง การให้ความสะดวกหรือให้ความช่วยเหลือไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมแก่การหาเสียง เช่น การอนุญาติให้ติดป้ายหาเสียงที่กุฎิ การกล่าวแนะนำบุคคลผู้กำลังทำการหาเสียง การแนะนำชักจูงให้ญาติโยมเลือกพรรคใดหรือผู้ใด ห้ามเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใดทำไม่ได้ทั้งสิ้น

การนำภาพผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งขึ้นเฟชบุคพระภิกษุ อยู่ในความหมายของการสนับสนุนช่วยเหลือโดยอ้อมแก่การหาเสียง จะกระทำมิได้


การที่พระภิกษุนำหลักธรรมมากล่าวเตือนญาติโยมให้เลือกคนดี (ทั้งนี้ต้องไม่ระบุว่าคนดีนั้นคือใคร) ด้วยเหตุผลอย่างไร ไม่ถือเป็นการสนับสนุนแนะนำชักจูง การหาเสียงเลือกตั้ง แต่ต้องไม่กระทำในที่ชุมนุม

ข้อ 6 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ

การชุมนุมนี้มิได้หมายเอาเฉพาะชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น การเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ก็ต้องห้ามทั้งสิ้น

ข้อ 7 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด

การอภิปราย หมายถึง การที่บุคคลคณะหนึ่งจำนวนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปร่วมกันพูด แสดงความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความรู้ ความคิดที่ใหม่ และกว้างขวาง เพิ่มขึ้นหรือช่วยกันหาแนวทางและวิธีการในการแก้ปัญหาร่วมกัน
การเข้าร่วมในการอภิปราย เข้าฟัง การบรรยายเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง ต้องห้ามทั้งสิ้น ไม่ว่าการอภิปรายนั้นจะได้กระทำในวัดหรือนอกวัดก็ตาม


เห็นว่า สิ่งเดียวที่พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จะปฏิบัติได้คือ การนำพระสัทธรรมมากล่าวให้สติแก่ญาติโยมเพื่อให้ญาติโยมพิจารณาเลือกคนดีมาปกครองบริหารประเทศ ขอย้ำว่า ห้ามระบุว่าคนดีคนนั้นคือใคร

ใน ท้ายบันทึกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 ทางมหาเถรสมาคมได้ให้เหตุผลของการออกคำสั่งดังกล่าวไว้ดังนี้…..

เหตุผลในการใช้คำสั่งมหาเถรสมาคมฉบับนี้ คือ โดยที่พระภิกษุสงฆ์ได้นามว่า สมณะ แปลว่า ผู้สงบ ได้นามว่า บรรพชิต แปลว่า ผู้เว้นกิจกรรมอันเศร้าหมองมีโทษ สมควรเป็นผู้สังวรระวังการกระทำของตนให้เป็นไปแต่ในทางสงบ ปราศจากโทษ ทั้งแก่คน ทั้งแก่หมู่คณะ

ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุสงฆ์มิให้ประพฤตินอกทางของสมณะบรรพชิต ทรงปรับโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนละเมิด

ใน การที่บ้านเมืองมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นธุรกิจฝ่ายบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของฆราวาสผู้มีสิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสามเณรผู้อยู่นอกเหนือการเมือง ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แม้ผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากบวชเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาก็ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทน ราษฎรทันที

ข้อ นี้แสดงว่า ความเป็นพระภิกษุสามเณรไม่ควรแก่การเมืองโดยประการทั้งปวง การที่พระภิกษุสามเณรเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งบุคคลใดๆ เพื่อเป็นสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล เป็นต้น ย่อมเป็นการประพฤติผิดวิสัยของสมณะบรรพชิต นำความเสื่อมเสียมาสู่ตนเองและหมู่คณะ ตลอดถึงพระศาสนา เป้นที่ติเตียนของสาธุชน ทั้งในและนอกพระศาสนา เพราะสมณะบรรพชิตสมควรวางตนเป็นกลาง ทำจิตให้กว้างขวาง ด้วยเมตตาทั่วไปแก่ชนทั้งปวง

ผู้ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยไม่เลือกหน้า ในตำแหน่งที่มีผู้แข่งขันช่วงชิงกันมากคน พระภิกษุสามเณรเข้าช่วยให้ผู้ใดได้ ย่อมเป็นที่พอใจของผู้นั้น แต่ผู้ที่ไม่ได้อีกเป็นจำนวนมากกับพวกพ้องย่อมไม่พอใจ เสื่อมคลายความเคารพนับถือ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์และความดำรงอยู่แห่งพระศาสนาขึ้นอยู่กับความเคารพ นับถือของประชาชน พระภิกษุสามเณรจึงควรทำตนให้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ไม่ควรทำตนให้เป็นพวกเป็นฝ่ายของผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจะทำให้ชนทั้งหลายเห็นว่าไม่ตั้งอยู่ในธรรม เกิดความเบื่อหน่ายคลายความเคารพนับถือและติเตียนต่างๆ ดังเคยมีตัวอย่างปรากฎมาแล้วมากราย

เพื่อ สงวนและเชิดชูพระภิกษุสงฆ์ให้ตั้งอยู่ในฐานะอันน่าเคารพนับถือไม่เป็นที่ดู หมิ่นติเตียนของมหาชนและป้องกันความเสื่อมเสียของคณะสงฆ์และพระศาสนาอันมี พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ดำรงรักษาไว้เช่นเดียวกับบูรพาจารย์ได้เคยปฎิบัติมา จึงออกคำสั่งมหาเถรสมาคาไว้เพื่อให้พระภิกษุสามเณรถือปฎิบัติต่อไป



ในเวลานั้น พระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วจะปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธ สรีระอย่างไร
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
อย่าเลยอานนท์ เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี
จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเรานั้
เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และ คหบดีเป็นจำนวนมากที่เลื่อมใสตถาคต
ก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การชำระกฎหมายในรัชกาลที่ ๑


บทความนี้ ได้เขียนขึ้น เพื่อเป็นบทเรียนแก่นักศึกษาที่ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายในเหตุของการชำระกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ และข้าพเจ้าได้แสดงการบรรยายโดยละเอียดในชั้นเรียน มิได้เพียงบรรยายเฉพาะคดีอำแดงป้อมกับนายบุญศรีอันเป็นปฐมเหตุเท่านั้น ข้าพเจ้าได้นำประกาศพระราชปรารภมาให้นักศึกษาได้ศึกษาทีละถ้อยกระทงคำของพระราชปรารภอย่างละเอียด จึงขอให้น้ำหนักเนื้อหานี้อยู่ที่กฎหมายปากเสียเป็นส่วนใหญ่อะไรคือกฎหมายปากกฎหมายที่ใช้ในสมัยกรุงธนบุรีก็ดี กรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ ก็ดี ล้วนเป็นกฎหมายที่มีการบัญญัติแต่ครั้งกรุงศรีอยุทธยา โดยผู้ที่จะเป็นผู้บัญญัติกฎหมายนั้น ต้องเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น คำสั่งของกษัตริย์จึงคือกฎหมาย การบัญญัติกฎหมายเป็นทางหนึ่งในการแสดงแสนยานุภาพของพระองค์ เป็นธรรมดาที่ผู้ปกครองจะต้องออกกฎระเบียบมาบังคับแก่ผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองเพื่อแสดงอำนาจจึงไม่น่าแปลกใจที่กฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุทธยาจะมีมาก ด้วยมีพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชผลัดราชบัลลังค์มากถึง ๓๓ - ๓๔ พระองค์ ขึ้นอยู่กับว่าจะนับขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่ไม่พบการออกกฎหมายในสมัยขุนวรวงศาธิราช ด้วยครองราชในระยะเวลาอันสั้น และราชบัลลังค์ยังสั่นครอนด้วยเหตุขาดความนับถือจากไพร่พล ตราบจนเมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๓๐๑ กฎหมายถูกนำมาเผาทิ้งเสียเป็นจำนวนมาก ที่คงเหลือเป็นรายลักษณ์อักษรมีเพียงส่วนเดียว และกฎหมายส่วนที่เหลือ อยู่ในความทรงจำของผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย ได้แก่ ลูกขุน ณ ศาลหลวง พราห์ม และผู้ปกครองที่ได้ศึกษากฎหมาย ต่อมาเมื่อกู้กรุงได้แล้ว จึงได้มีการสอบถามกฎหมายเอาจากผู้รู้กฎหมายที่ยังมีชีวิตอยู่ คือนักกฎหมายในกรุงศรีอยุทธยาเดิมนั่นเอง

ย่อมเป็นธรรมดา เมื่อมีกฎหมายไม่มีลายลักษณ์อักษรเหลืออยู่แล้ว คนย่อมดัดแปลงแต่งกฎหมายเอาตามใจชอบด้วยมนุษย์ยังมีกิเลส ปรารถนาอยากให้กฎหมายเป็นอย่างใจตนอย่างไร ก็กล่าวออกไป มีการบันทึกกฎหมายขึ้นใหม่จาก ปาก ของคนเหล่านั้น

และใช้กฎหมายปากนั้นตลอดมา ไม่พบว่ามีการออกกฎหมายในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจวบจนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงครองราช เกิดคดีอำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรีขึ้น จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้ชำระกฎหมายด้วยกฎหมายนั้นวิปริตผิดซ้ำ ฟั่นเฟือนเป็นอันมาก ปรากฎตามประกาศพระราชปรารภแห่งกฎหมายตราสามดวง ความว่า

อำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีฟ้องหย่านายบุญศรี ๆ ให้การแก่พระเกษมว่าอำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรี ๆ ไม่หย่า พระเกษมมหาพิจารณาตามคำให้การนายบุญศรีไม่ พระเกษมพูดจาแพละโลมอำแดงป้อม แลพิจารณาไม่เปนสัจไม่เป็นธรรม เข้าด้วยอำแดงป้อม แล้วคัดข้อความมาให้ลูกขุนสานหลวงปฤกษา ๆ ว่าเปนหญิงหย่าชาย ให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากผัวเมียกันตามกฎหมาย จึ่งทรงพระกรรุณาตรัสว่าหญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่าชาย ลูกขุนปฤกษาให้หย่ากันนั้นหาเปนยุติ หาเป็นธรรมไม่

จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่ง ให้เจ้าพญาพระคลังเอากฎหมายณสานหลวงมาสอบกับฉบับ หอหลวง และข้างที่

ได้ความว่าชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่าท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้ ถูกต้องกันทังสามฉบับ จึ่งมีพระราชโองการมานพระบันทูลสูรสิงหนาท ดำรัสว่า

ฝ่ายพุทธจักรนั้น พระไตรยปิฎกแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์อันสมเดจ์พระพุทธิเจ้าทรงพระมหากรุณาประดิษฐานไว้

ต่างพระองคได้เปนหลักโลกยสั่งสอนบรรพชิตบริษัษยแลฆราวาศบริษัษยได้ประฏิบัดิรู้ซึ่งทางศุคติภูมแลทุคติภูม แลพระไตรยปิฎกธรรมนั้นฟั่นเฟือนวิปริตผิดเพี้ยนไปเปนอันมาก ยากที่จะเล่าเรียนเปนอายุศมพระพุทธสาศนาสืบไป ก็ได้อาราธนาประชุมเชีญพระราชาคณะทังปวง มีสมเดจ์พระสังฆราชแลพระธรรมอุดมพระพุทธโฆษาจารยเปนประธาน ฝ่ายราชบัณทิตยนั้น พญาธรรมปรีชาเปนต้น ให้ทำสังคายนายชำระพระไตรยปิฎกสอบใส่ด้วยอรรฐกะถาฎีกาให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญหญัติ พระไตรยปิฎกจึ่งค่อยถูกถ้วนผ่องใสขึ้นได้ เปนที่เล่าเรียนง่ายใจแก่กลบุตรสืบไปภายหน้า ก็เปนพุทธการกธรรมกองการกุศลอันประเสริฐแล้ว

แลฝ่ายข้างอาณาจักรนี้กระษัตรผู้จดำรงแผ่นดินนั้นอาไศรยซึ่งโบราณราชนิติ กฎหมายพระอายการ อันกระษัตรแต่ก่อนบัญหญัติไว้ ได้เปนบันทัดถาน จึ่งพิภากษาตราสีนเนื้อความราษฎรทังปวงได้โดยยุติธรรม แลพระราชกำหนดบทพระอายการนั้นก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซ้ำต่างกันไปเปนอันมาก ด้วยคนอันโลภหลงหาความลอายแก่บาปมิได้ ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิภากษาภาให้เสียยุติธรรมสำหรับแผ่นดินไปก็มีบ้าง จึงทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จัดข้าทูลลอองทุลีพระบาท ที่มีสะติปัญญาได้ชำระ พระราชกำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวงตั้งแต่พระธรรมสาตรไปให้ถูกถ้วนตามบาฬีแลเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเปนหมวดเปนเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงพระอุตสาหทรงชำระดัดแปลงซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้ ด้วยพระไทยทรงพระมหากรรุณาคุณจให้เปนประโยชน์แก่กระษัตรอันจดำรงแผ่นดินไปในภายหน้า ครั้นชำระแล้วให้อาลักษณชุบเส้นมึกสามฉบับไว้ห้องเครื่องฉบับหนึ่ง ไว้หอหลวงฉบับหนึ่ง ไว้ณสานลวงสำหรับลูกขุนฉบับหนึ่ง ปิดตรา พระราชสีห พระคชสีห บัวแก้ว ทุกเล่มเปนสำคัญ ถ้าพระเกษมรศรีเชีญพระสมุดพระราชกำหนดบทพระอายการออกมาพิภากษากิจคดีใดใด ลูกขุนทังปวงไม่เหนปิดตรา พระราชสีห พระคชสีห บัวแก้ว สามดวงนี้ไซ้ อย่าให้เชื่อฟังเอาเปนอันขาดทีเดียวเมื่อพิจารณาข้อความตามประกาศพระราชปรารภ จะเห็นได้ชัดว่า พระองค์ทรงกำชับว่า การอัญเชิญพระอัยการ (กฎหมาย) มาพิพากษากิจคดีใดๆ ต้องปรากฎตราสามดวงนี้เท่านั้น ถ้าไม่ปรากฎตราสามดวง หรือมิได้อัญเชิญพระอัยการที่ประทับตราสามดวงมาพิพากษากิจคดี อย่าให้เชื่อฟังเป็นอันขาด


ธรรมะปาก

ฝ่ายพุทธจักรนั้น พระไตรยปิฎกแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์อันสมเดจ์พระพุทธิเจ้าทรงพระมหากรุณาประดิษฐานไว้

ต่างพระองคได้เปนหลักโลกยสั่งสอนบรรพชิตบริษัษยแลฆราวาศบริษัษยได้ประฏิบัดิรู้ซึ่งทางศุคติภูมแลทุคติภูม แลพระไตรยปิฎกธรรมนั้นฟั่นเฟือนวิปริตผิดเพี้ยนไปเปนอันมาก ยากที่จะเล่าเรียนเปนอายุศมพระพุทธสาศนาสืบไป ก็ได้อาราธนาประชุมเชีญพระราชาคณะทังปวง มีสมเดจ์พระสังฆราชแลพระธรรมอุดมพระพุทธโฆษาจารยเปนประธาน ฝ่ายราชบัณทิตยนั้น พญาธรรมปรีชาเปนต้น ให้ทำสังคายนายชำระพระไตรยปิฎกสอบใส่ด้วยอรรฐกะถาฎีกาให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญหญัติ พระไตรยปิฎกจึ่งค่อยถูกถ้วนผ่องใสขึ้นได้ เปนที่เล่าเรียนง่ายใจแก่กลบุตรสืบไปภายหน้า ก็เปนพุทธการกธรรมกองการกุศลอันประเสริฐแล้วพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระราชปรารภถึงการเหตุแห่งการสังคายนาพระไตรปิฎกไว้ว่า พระธรรมนั้นฟั่นเฟือนวิปริตผิดเพื้ยนไปเป็นอันมาก ยากที่จะเล่าเรียน เพราะ พระสัทธรรมของพระบรมศาสดานั้น ต้องสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกันเอง เมื่อมีการเผยแผ่พระสัทธรรมโดยไม่แสดงพระไตรปิฎก อันเป็นการเผยแผ่ ธรรมะปาก ทำให้พระสัทธรรมเลือนหาย พระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายให้ทรงจำพระสัทธรรมและนำออกเผยแผ่ตามที่พระองค์ทรงแสดงอย่าให้ผิด อย่าให้เพื้ยน

เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก

ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงาม

ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ

ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=3111&Z=3197&pagebreak=0

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕

อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

ปัญญาสูตรเหตุที่พระบรมศาสดาทรงตรัสกำชับเช่นนั้น เพราะทรงเกรงว่า พระสัทธรรมจะเลอะเลือน ด้วยเหตุการแสดงธรรมของพระภิกษุและจะไม่มีผู้ใดทรงจำพระสัทธรรมได้อีกต่อไป แม้พระราชาจะนำเงินมากมายมาให้แก่ผู้ทรงจำพระสัทธรรมได้ก็จะไม่มีผู้ใดมารับเงินนั้นไป

ในกาลใด พระราชาผู้มีศรัทธาเลื่อมใสทรงให้ใส่ถุงทรัพย์หนึ่งแสน

ลงในผอบทองตั้งบนคอช้าง แล้วให้ตีกลองร้องประกาศไปในพระนครว่า

ชนผู้รู้คาถา ๔ บทที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว จงถือเอาทรัพย์หนึ่งแสนนี้ไป

ก็ไม่ได้คนที่จะรับเอาไป แม้ด้วยการให้เที่ยวตีกลองประกาศคราวเดียว

ย่อมมีผู้ได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง

จึงให้เที่ยวตีกลองประกาศไป

ถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ได้ผู้ที่จะรับเอาไป.

ราชบุรุษทั้งหลายจึงให้ขนถุงทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น กลับสู่ราชตระกูลตามเดิม.

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=99

กฎหมายปาก และธรรมะปาก เป็นเหตุให้กฎหมายและพระสัทธรรมเลอะเลือนได้ด้วยเหตุดังนี้แล.




วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แสดงความเห็นทางการเมือง ระวังหมิ่นประมาท

การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น มิใช่จะทำได้ตามอำเภอใจ โดยความสะใจเป็นที่ตั้ง แต่การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ต้องประกอบด้วยหลักการและเหตุผล จะยกเมฆ หรืออ่านข่าว sms ยังไม่รู้ที่มาที่ไป แล้วนำมาวิพากษ์วิจารณ์ให้เป็นที่เสียหายแก่พรรคการเมืองหรือผู้ใดมิได้ การแสดงความคิดเห็นอย่างไร เสี่ยงคุก หรือปลอดภัยจากคุก

มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากเป็นการแสดงความคิดเห็นตามเว็บบอร์ดการเมืองต่างๆ ในระบบอินเตอร์เนต ถือเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษหนักขึ้น
มาตรา ๓๒๘ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

องค์ประกอบความผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาท

๑.ใส่ความผู้อื่น

อธิบาย อย่างไรเรียกว่าการใส่ความ
การใส่ความคือการกล่าวคำให้ร้าย ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ก็ถือว่าเป็นการกล่าวให้ร้าย (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า นินทา) เช่น กล่าวว่า นายดำกับนางแดงเป็นชู้กัน แม้นายดำกับนางแดงจะมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาวจริง ผู้กล่าวก็มีความผิดแล้ว ถือว่าเป็นการใส่ความ

โดยส่วนใหญ่ การแสดงความเห็นทางการเมืองที่แสดงความเห็นในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เช่น กล่าวว่า นายดำ สส. พรรคสุขสันต์ เป็นชู้กับ นางขาว สส.พรรคเดียวกัน นี่เป็นการใส่ความ เพราะไม่เกี่ยวกับการเมือง

๒. ใส่ความต่อบุคคลที่สาม
บุคคลที่สามหมายถึง ใครก็ได้ที่ไม่ใช่เรา เช่น ดำไปกล่าวนินทาแดง กับเขียว เขียวเป็นบุคคลที่สามแล้ว แต่ต้องเป็นกรณีที่ดำไปกล่าวกับเขียว ไม่ใช่ดำกล่าวว่าแดงโดยลำพังแล้วเขียวมาได้ยินเอง บุคคลที่สามนี้จะมีกี่คนก็ได้ การกล่าวใส่ความตามเว็บบอร์ดต่างๆ ได้กระทำลงในระบบอินเตอร์เนตที่คนได้อ่านไปทั่วโลก จึงเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามแล้ว

๓. ทำให้ผู้ถูกใส่ความนั้นเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ในข้อนี้ เอาความรู้สึกของบุคคลที่สามเป็นหลักว่า เมื่อได้ฟังแล้ว รู้สึกดูหมิ่น ดูถูกหรือเกลียดชังผู้ถูกใส่ความหรือไม่ กรณีเดิม ต้องเอาความรู้สึกของเขียวเป็นหลักว่า ฟังข้อความแล้ว รู้สึกไม่ดีต่อแดงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3717/2547
ข้อความที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ในคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉก ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์นั้น เป็นข้อความทั่ว ๆ ไปที่วิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวบุคคล ที่จะเข้ารับตำแหน่งสำคัญในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ควรเป็นบุคคลที่อุทิศตนเพื่อทางราชการ โดยไม่มีข้อความใดที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เข้าใจว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวตั้งแต่เช้าจรดเย็น เป็นตัวโจทก์ การที่โจทก์นำบทความที่จำเลยที่ 6 เขียนไว้ในคอลัมน์อื่นก่อนหน้านี้มารวมเข้ากับข้อความในคอลัมน์ดังกล่าวว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ก็เป็นเพียงความเข้าใจของโจทก์เองเท่านั้นหาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่ว ไปไม่ เมื่อโจทก์ยึดถือความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นสำคัญทั้งๆ ที่บุคคลทั่วไปมิได้มีการรับรู้หรือเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความดังกล่าวว่าเป็นตัวโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์


การใส่ความนี้ต้องมีลักษณะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าหมายถึงใคร การใช้นามแฝงหรือนามที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าหมายถึงใครก็พึงเข้าใจได้ว่าหมิ่นผู้ใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2548

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์ข้อความมีหัวข้อข่าวว่า "แฉชัด ๆ "ชวน" บอกให้ปกปิด" ส่วนเนื้อข่าวมีข้อความว่า "ร้อยตำรวจเอกเฉลิมกล่าวว่า คดีบีบีซีเกิดขึ้น นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีการคดโกงธนาคารบีบีซี นายชวนหลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นทราบ ก็มีการบอกให้ปกปิดไว้อย่าพูดอะไร ตัวเองก็ยิ้มเงียบ อย่างนุ่มนวล รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์แต่ละคนผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียว สื่อมวลชนก็ชื่นชม..." ข้อความที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาลงพิมพ์ดังกล่าวมีความหมายธรรมดา ประชาชนทั่วไปเข้าใจความหมายได้ว่า โจทก์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องทุจริตในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารบีบีซี ทั้ง ๆ ที่นายธารินทร์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รายงานเรื่องการทุจริตดังกล่าวให้ทราบแล้ว แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการทั้งยังบอกให้นายธารินทร์ปกปิดเรื่องการทุจริตไว้ไม่ให้เปิดเผย มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการอภิปรายในรัฐสภา และจำเลยที่ 2 มาลงพิมพ์โฆษณาเผยแพร่โดยมิได้เสริมแต่งข้อความหรือสอดแทรกความคิดเห็นก็ไม่ทำให้ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท


คดีนี้ศาลพิพากษาจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท โทษคุกให้รอไว้ และให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน จำนวน ๕ ฉบับติดต่อกัน ฉบับละเจ็ดวัน


ปัจจุบัน คอการเมือง มักจะใช้ชื่อเรียกนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ไม่ตรงตามชื่อพรรค โดยมีเจตนาเลี่ยงบาลี แต่ถ้าพิจารณาได้ความว่าพรรคใด ก็เข้าข่ายเป็นการชี้เฉพาะเจาะจงเช่นกัน เช่น พรรคแมลงสาป พรรคเผาไทย เป็นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531
จำเลย ที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า" พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับ การค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก" ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่ง เป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงโทษไว้ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ 1 ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เขียนแต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาจำเลยทั้งสองไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้ง สองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป

ข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท


http://natjar2001law.blogspot.com/2011/02/1.html


วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ตาม มาตรา ๖๕๔ ปพพ. กับ พรบ. ห้ามเรียกฯ

การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

การเรียกดอกเบี้ยในหนี้เงินที่เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปีนั้น นักศึกษามักเข้าใจผิด หรือเข้าใจไม่เด็ดขาดระหว่าง ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ ๑๕ ตาม ปพพ. มาตรา ๖๕๔ กับ เป็นโมฆะตาม ตามพรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งหากไม่เข้าใจอย่างแท้จริงจะเข้าใจว่า กฎหมายนั้นขัดกันเอง ในความจริง หาได้ขัดกันไม่ เพราะ การใช้มาตรา ๖๕๔ นั้น ไม่ใช้กับหนี้เงิน ขอให้นักศึกษาพิจารณาตัวบทมาตรา ๖๕๔ มีคำไหนหรือไม่ที่มีบัญญัติเรื่องหนี้เงิน และโดยเฉพาะ มาตรา ๖๕๔ นั้นอยู่ในหมวดยืมใช้สิ้นเปลือง มิใช่กู้ยืมเงิน แม้จะมี มาตรา ๖๕๓ รวมอยู่ในหมวดดังกล่าวด้วย เพราะกู้ยืมเงินเป็นยืมใช้สิ้นเปลือง แต่ยืมใช้สิ้นเปลืองมิใช่กู้ยืมเงิน ส่วน พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราใช้เฉพาะกู้ยืมเงินเท่านั้น

มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

จะเห็นได้ชัดว่า มาตรา ๖๕๔ มิได้บัญญัติเรื่องกู้ยืมเงินไว้เลย ดังนั้น หนี้ที่จะลดดอกเบี้ยเป็นร้อยละ ๑๕ ได้นั้นต้องไม่ใช่หนี้เงิน เช่น ยืมข้าวสาร ๑๐ ถ้วย คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ ต้องคืนดอกเบี้ยพร้อมต้น ๑๒ ถ้วย แต่เมื่อดอกเบี้ยเกินร้อยละ ๑๕ ต้องลดลงเหลือร้อยละ ๑๕ คือ คืนดอกเบี้ยแค่ถ้วยครึ่งรวมเป็น ๑๑ ถ้วยครึ่ง เป็นต้น

ตาม พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕

มาตรา ๓ บุคคลใด

(ก) ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ

(ข) เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราท่านบัญญัติไว้ในกฎหมาย บังอาจกำหนดข้อความอันไม่จริงในเรื่องจำนวนเงินกู้หรืออื่นๆ ไว้ในหนังสือสัญญา หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ หรือ

(ค) นอกจากดอกเบี้ย ยังบังอาจกำหนดจะเอา หรือรับเอาซึ่งกำไรอื่นเป็นเงินหรือสิ่งของ หรือโดยวิธีเพิกถอนหนี้ หรืออื่นๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม

ท่านว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เห็นได้ชัดว่า มาตรา ๓ ระบุชัดว่าเป็นการให้กู้ยืมเงิน ดังนั้น หากคิดดอกเบี้ยในหนี้กู้ยืมเงินเกินร้อยละ ๑๕ ต้องบังคับตาม พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งมีผลให้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1913/2537

ปัญหาที่ว่าสัญญากู้ซึ่งมีดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมเป็นเงินต้นด้วยเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นมาในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง การที่โจทก์นำดอกเบี้ยล่วงหน้าที่คิดจากจำเลยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 ไปรวมเป็นต้นเงินที่กู้ยืมตามสัญญากู้เฉพาะดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นโมฆะ แต่หนี้เงินต้นและข้อตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ยังคงสมบูรณ์ สัญญากู้ไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ และในส่วนที่สมบูรณ์โจทก์ย่อมนำมาใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมฟ้องร้องบังคับคดีได้

หมายเหตุ ทำไมคำพิพากษาฎีกานี้จึงต้องวินิจฉัยประกอบมาตรา ๖๕๔ เพราะอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ตอนต้น กู้ยืมเงินเป็นยืมใช้สิ้นเปลือง แต่ยืมใช้สิ้นเปลืองไม่ใช่กู้ยืมเงินนั่นเอง และอัตราดอกเบี้ยจะปรากฎอยู่ในมาตรา ๖๕๔ มิใช่ใน พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2512

การยืมข้าวเปลือกซึ่งตกลงให้ดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือกในอัตรา1 ถังต่อข้าวเปลือกที่ยืม 2 ถังนั้นมิใช่ดอกเบี้ยตามความหมายของกฎหมาย เพราะผลประโยชน์ที่เรียกเป็นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้จากหนี้เงินเท่านั้น เมื่อตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในการยืมข้าวเปลือกกันไว้อย่างไร ผู้ยืมก็จะต้องชำระให้ตามข้อตกลงนั้น (ถ้าเกินร้อยละ ๑๕ ให้ลดเหลือร้อยละ ๑๕)

ประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้รวบรวมข้อบัญญัติต่างๆ ในทางแพ่งทั้งหมดขึ้นใช้บังคับ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1981/2511)

การเรียกดอกเบี้ยกรณีดอกเบี้ยเป็นโมฆะ เรียกดอกเบี้ยผิดนัดอย่างไร ติดตามที่นี่ต่อ

http://natjar2001law.blogspot.com/2011/01/blog-post_5302.html

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คำสาปแช่งพยานเท็จ พระอัยการลักษณะพยาน



"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อบุคคลยังไม่ละอายธรรมข้อหนึ่งคือ

การพูดปดทั้งๆที่รู้

เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้างที่ผู้นั้นจะทำไม่ได้"

กฎหมายกับศิลธรรม ศาสนา ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกันได้ เพราะกฎหมายมีบาทฐานมาจากศาสนานั่นเอง พระบรมศาสดาตรัสว่า บุคคลผู้โกหกทั้งๆ ที่รู้ได้ ย่อมทำบาปสิ่งไรไม่ได้เลย และนอกจากนั้น การโกหก พูดปดยังเป็นการขวางกั้นพระนิพพานด้วยมิใช่ธรรมอันสมควรแก่พระอริยะเจ้าพระอัยการลักษณะพยานหลักฐาน ตามปรากฎในกฎหมายตราสามดวง ได้มีคำสาปแช่งบุคคลซึ่งกล่าวโดยเท็จในฐานะพยาน มิใ่ช่สักขี (ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ได้ยินมาด้วยตนเอง) ไว้อย่างเผ็ดร้อนรุนแรง ต้องเสวยเวทนาในนรกถึงสองพุทธธันดรกัลป

คำคนผู้จะเปนสักขิพญาณแก่กัน ถ้าเหนให้ว่าเหนได้ยินให้ว่าได้ยินรู้ให้ว่ารู้ ถ้าหมีได้เหนว่าได้เหนหมีได้ยินว่าได้ยินหมีรู้ว่ารู้ แผนพระธรณีอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชนอย่าได้ทรงซึ่งคนอันหาความสัจหมีได้ไว้เลย ให้เปนพิกลบ้าไบ้วิบัติต่าง ๆ ถ้าจะไปบกเข้าป่าให้เสือกินแลต้องอะสุนีบาตสายฟ้าฟาด แลบังเกิดอุบัติโลหิตตกจากปากจะหมูกถึงซึ่งชีวิตรพินาศอย่าให้ทันสั่งบุตรภรรยา แลคำสาบาลทังนี้จงให้ได้แก่คนอันหาความสัจมิได้

ประการหนึ่งให้ท่านตัดศีศะคนซึ่งเปนพญาณหาความสัจหมีได้ให้มากกว่าก้อนส้าวคนทังหลายในมนุษโลกยนี้ อนึ่งให้ท่านตัดตีนสินมือ เสียให้มากกว่าเส้นหญ้า อนึ่งท่านให้ตัดมือเท้าเสียให้มากกว่าเส้นหญ้า

อนึ่งให้ท่านเชีอดเนื้อคนอันหาความสัจมิได้ให้มากกว่า แผ่นดินอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน

อนึ่งให้ท่านควักตาคนอันหาความสัจหมีได้ให้มากกว่าดาวในพื้นอากาศ

แลคนอันหาความสัจหมีได้นั้น ครั้นจุติจากมนุษแล้ว ให้ไปบังเกิดเปนเปรตในเชิงเขาคิชกูฎมีตัวอันสูงได้สามคาพยุตมีปากเท่ารูเขมเอาแลบตนแกะซึ่งโลหิตในกายกินเปนภักษาหารสิ้นพุทธันดรกัลปหนึ่ง

ครั้นจุติจากเปรดแล้วให้ไปตกในมหานรกทนทุกขเวทนาแสนสาหัศสิ้นพุทธันดรกัลปหนึ่ง ซึ่งหมีรู้ว่ารู้นั้นนายนิริยบาลเอากายขึ้นวางเหนือแผ่นเหลกแดง แล้วเอาเหลกแดงตรึงศีศะตรึงเท้าไว้แล้วเอาขวานผ่าอกตัดตีนสีนมือเสีย ซึ่งหมีได้ยินว่าได้ยินนั้นนายนิริยบาลเอากายขึ้นวางเหนือแผ่นเหลกแดงแล้วเอาหอกอันใหญ่แทงหูขวาตะหลอดหูซ้ายแทงหูซ้ายตะหลอดหูขวา ซึ่งหมีได้เหนว่าได้เหนนั้นนายนิรยบาลเอากายขึ้นวางเหนือแผ่นเหลกแดงเอาฃอเกี่ยวตา คร่าออกมา แลคนผู้หาความสัจหมีได้นั้นกลัวไภยแล่นลงไปยังขุมคูธนรกอันเตมไปด้วยลามกอาจมเดือดพล่านว่ายอยู่ มีตัวอันลลายไปแล้วเกิดขึ้นมาเสวยทุกขเวทนาอีกเล่า ครั้นจุติจากนรกแล้วจักเกิดเปนสุนักขเรื้อนเปนสัตวเดือนกิ้งกื ถ้าเกิดเปนมนุษจะเปนง่อยเปลี้ยแต่ในครรภ์แลตานั้นบอดหูนั้นหนวก เปนคนเตี้ยค่อมบ้าใบ้แต่กำเนิดเกิดวิบัติสรรพต่าง ๆ แลไภยอันตรายซึ่งกล่าวมาทังนี้ จงได้แก่พญาณอันหาความสัจมิได้นั้น

สำหรับพยานผู้กล่าวคำสัจ ก็ได้สรรเสริญอวยพรไว้โดยกล่าวว่า ถ้าเป็นบุรุษจะได้เกิดเป็นมนุษย์ผู้บริสุทธิ์โดยรูปโฉม (รูปหล่อ) มีปัญญาเป็นนักปราชญ์

ถ้าเป็นสตรีจะได้บังเกิดเป็นมนุษย์มีพรรณสัณฐานอันไพบูรณ์ (สุดสวย) และเป็นผู้มีความเป็นเลิศในการศึกษาพระไตรปิฎก (สำหรับสตรีที่จะได้ทรงพระไตรปิฎกในอดีตนั้นเป็นเรื่องยากมาก จึงได้กล่าวถึงบุญที่จะได้ศึกษาพระไตรปิฎกไว้เฉพาะแต่สตรี) การได้เกิดในพระุพุทธศาสนาได้ศึกษาพระธรรมนี้เป็นเรื่องยาก จึงเป็นรางวัลอันสมควรแก่ผู้ที่บำเพ็ญสัจจะบารมีด้วยการกล่าวคำพยานจริง

ถ้าแลผู้เปนสักขิพญาณกล่าวแต่ตามสัจตามจริงไซ้ แลเกิดมาในภพใด ๆ ถ้าเปนบุรุษจะบริสุทธไปด้วยรูปโฉมพรรณสัณฐานอันประเสริฐ

บังเกิดเปนนักปราชกอปรด้วยปรีชาชาญ

ถ้าเปนสัตรีจะมีพรรณสัณฐานอันไพบูรรณ

แลผลแห่งตนอันมีความสัจนั้นไปในอะนาคตจะทรงพระไตรยปิฎกธรรม

อันเปนที่จะยกเอตะทักคะในพระพุทธสาศนา

สมเดจ์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้าอันจะมาตรัสในภายภาคหน้า

และจะบ่ายหน้าเข้ายังพระอมัตะมหานครนฤพานนั้นแล

จากกฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะภญาณหมายเหตุ ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยโบราณ มิได้เขียนผิดพลาดแต่อย่างใด