วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม ม.209 210 215

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่
มาตรา 20
9 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้นผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

- เป็นสมาชิกของคณะบุคคล

- ซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ

- มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

คณะบุคคล คือ การรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป

สมาชิก ต้องมีสิทธิในที่ประชุม (ร่วมปรึกษาหารือลงคะแนนเสียง)

ฎีกาที่ ๓๐๑-๓๐๓/๒๔๗๐ ตกลงกันว่าหากพรรค พวกต้องคดีจะไปช่วยเป็นพยานเท็จให้ และจะออกเงินส่งเสียสมาชิกที่ต้องหาในคดีอาญา การช่วยเป็นพยานเท็จถือว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

ฎีกาที่ ๑๑๗๖/๒๕๔๓ จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังอาวุธโจรก่อการร้ายกระบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ เรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงมีความผิดฐานอั้งยี่

ความผิดสำเร็จเมื่อเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลไม่จำเป็นต้องกระทำการสำเร็จตามความมุ่งหมายนั้น


ความผิดฐานเป็นซ่องโจร
มาตรา 210
ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

- สมคบกันตั้งแต่ คนขึ้นไป

- เพื่อกระทำความผิดในภาค ๒ นี้

- ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ ปีขึ้นไป

สมคบ คือ การร่วมคบคิดกัน (ตามพจนานุกรม) คำว่าสมคบไม่มีในคำนิยาม แต่ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 6 ข้อ 8 ได้ให้นิยามคำว่า สมคบ ว่า ถ้าบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สมรู้ด้วยกันเพื่อจะกระทำผิด ท่านว่าคนเหล่านั้นสมคบกัน ท่านอาจารย์สถิตย์ ไพเราะ ท่านได้ให้ความเห็นเป็นข้อสังเกตไว้ว่า น่าจะนำหลักเรื่องตัวการร่วมกันกระทำความผิดมาตรา 83 มาเทียบเคียงในการตีความได้ ดังนั้น ถ้าบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปแสดงออกซึ่งความตกลงที่จะกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นการสมคบกันแล้ว

ฎีกาที่ 2829/2526 การสมกันเพื่อกระทำความผิด ต้องมีการแสดงออกซึ่งความตกลงที่จะกระทำผิดร่วมกัน มิใช่เพียงแต่มาประชุมหารือกันโดยมิได้ตกลงอะไรกันเลยหรือตกลงกันไม่ได้

ฎีกาที่ 4986/2533 ความผิดฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 นั้นผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำ ความผิด กล่าวคือจะต้องมีการร่วมคบคิดกันหรือแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำความผิดร่วมกันในระหว่างผู้กระทำผิดด้วยกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เพียงแต่ร่วมเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อ โดยเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น จึงเป็นลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 1,2,3 และ 5 มิได้คบคิดกันว่าจะกระทำความผิดร่วมกันรับของโจร จึงไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจร

ฎีกาที่ 2429/2528 จำเลยกับพวกรวม 10 คน จับกลุ่มวางแผนจะใช้ตลับยาหม่องครองเหรียญพนันบนรถโดยสารประจำทาง โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นคนใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญแล้วให้จำเลยอื่นเป็นหน้าม้าแทง จำเลยที่ 1 แจกเงินให้จำเลยอื่นทุกคนเพื่อนำไปแทง ใครได้เสียเท่าไหร่ให้จำไว้ เมื่อเลิกเล่นแล้วจะคืนให้หมด จำเลยอื่นขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารประจำทาง ส่วนจำเลยที่ 5 รออยู่ที่สถานีขนส่ง เมื่อรถยนต์โดยสารออกจากสถานีขนส่ง จำเลยที่ 1 ก็เริ่มเล่นการพนันกัน แล้วชักชวนผู้โดยสารมาแทง อันเป็นการสมคบกันเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริต

อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 5 จะมิได้ขึ้นไปบนรถโดยสารด้วยแต่รออยู่ที่สถานีขนส่งแล้วจะขับรถตามมารับพวกจำเลยเมื่อเลิกเล่นกันแล้ว อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลย

ที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 5 จึงเป็นความผิดฐานซ่องโจร

- เพื่อกระทำความผิดในภาค ๒ นี้

มาตรา 210 จำกัดเฉพาะความผิดในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 นี้ เท่านั้น การกระทำผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดตาม พรบ.ยาเสพติด ฯลฯ ไม่อยู่ในองค์ประกอบข้อนี้ แต่อาจเป็นความผิดฐานอั้งยี่ได้

- ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ปีขึ้นไป

ให้ดูในระวางโทษของแต่ละมาตรา

ถ้ามีการสมคบกันกระทำความผิด และได้กระทำความผิด ไม่ว่าจะกระทำได้สำเร็จหรือไม่ก็ตามความผิดฐานซ่องโจรก็สำเร็จลงแล้ว ถ้าได้กระทำความผิดตามที่สมคบกัน ก็จะเกิดความผิดขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง เป็นกรณีกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ฎีกาที่ 4548/2540 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คนวางแผนกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนแม้ไม่ได้ไปปล้นด้วยก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการ

ร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตาม ปอ. มาตรา 213 และ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวกจำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจร เพื่อจะไปปล้นทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ฎีกาที่ 1719/34 จำเลยกับพวกรวมห้าคนปรึกษากันว่าจะไปปล้นรถจักรยานยนต์เป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิด และการกระทำความผิดที่สมคบกันเพื่อจะไปกระทำนั้นเป็นการปล้นทรัพย์ อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ . ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 วรรคสอง

ความผิดฐานมั่วสุม ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มั่วสุม

- ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป

- ก. ใช้กำลังประทุษร้าย

ข. ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

ค. กระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

คำว่า มั่วสุม หมายความว่า ชุมนุมกัน

ฎีกาที่ ๗๗๒/๒๔๘๒ การมั่วสุมไม่จำต้องนัดหมายร่วมกันมาก่อน แต่การกระทำตอนใช้กำลังประทุษร้าย ต้องกระทำด้วยความประสงค์ร่วมกัน เช่น การเดินขบวนประท้วงใช้ความรุนแรงต่าง ๆ

ฎีกาที่ ๒๓๘๗/๒๕๓๖ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำและสั่งการในการนัดหยุดงานของลูกจ้างประมาณ ๓๐๐คน การนัดหยุดงานดังกล่าว มิได้เป็นไปตามขั้น ตอนและเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงาน สัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ แต่เพื่อต่อรองบีบบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน เมื่อปรากฏว่า มีการปะทะและทำร้ายซึ่งกันและกันระ หว่างลูกจ้างที่นัดหยุดงานและลูกจ้างที่ประสงค์จะเข้าทำงาน เข้าออก ได้มีการขว้างปาวัตถุก้อนดินเข้าไปในโรงงาน เหตุเกิดริมถนนสาธารณะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐาน ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

วรรคสอง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ร่วมกระทำผิดต้องรับโทษหนักขึ้นไปอีก ปัญหาว่า คำว่า มีอาวุธ คนอื่น ๆ ที่ร่วมในการมั่วสุมต้องรู้หรือไม่ และจะถูกลงโทษตามวรรคสองหรือไม่นั้น ขออธิบายว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่าผู้ร่วมกระทำความผิดต้องรู้ ดังนั้นแม้ผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นไม่รู้ก็ต้องรับผิดด้วย แต่หากว่าเผอิญคนที่พกพาอาวุธไปนั้นได้ใช้อาวุธในการทำร้ายผู้อื่น การใช้อาวุธทำร้ายผู้อื่นเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำผิดคนอื่นจึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งความตายนั้นด้วย ส่วนในข้อหาพาอาวุธเข้าไปในเมืองตามมาตรา ๓๗๔ นั้นเอาผิดเฉพาะผู้พาอาวุธ ผู้ร่วมกระทำผิดไม่ต้องรับผิดส่วนนี้ด้วย คงรับเฉพาะวรรคสองแห่งมาตรา ๒๑๔ เท่านั้น

ผู้กระทำความผิดเกิน สิบคน จะทำให้เราวินิจฉัยยาก เพราะจะสามารถเป็นได้ทั้งอั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม หลักการวินิจฉัยคือ
๑. ให้ดูก่อนว่า เป็นการรวมตัวกันในลักษณะถาวรหรือไม่ ถ้าถาวร เป็นสมาคม จะเป็นอั้งยี่ ถ้าไม่ถาวร อาจเป็นได้ทั้งซ่องโจร และมั่วสุม (ไม่ถาวรคือ รวมกันเฉพาะกิจครั้งใดครั้งหนึ่งเท่านั้น)
๒. ถ้าการรวมตัวมีลักษณะไม่ถาวร ให้ดูว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาภาคสองหรือไม่ ถ้าใช่ เป็นซ่องโจร ถ้าเป็นความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ชุมนุม พรบ.จราจร (แข่งรถ) เป็นมั่วสุม

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ร่าง พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์


ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้ คือภาพของหญิงคนหนึ่ง ซื้อสัตว์มาจากพ่อค้าสัตว์ที่ค้าสัตว์เพื่อทารุณกรรม ดูความตายของสัตว์ เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ขอผู้มีจิตเป็นโทสะอย่างแรง มีปฏิฆะ มีความอาฆาต แล้วไม่สามารถกระทำต่อผู้อื่น หรือตนเป็นผู้ถูกกระทำในโลกความเป็นจริง จึงได้หาทางระบายออกโดยกระทำต่อสัตว์ที่ไม่มีทางสู้

อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

http://news.108dog.com/dognews/43.php

และคลิปที่ท่านจะเห็นต่อไปนี้ เป็นคลิปการทรมานสัตว์เพื่อการค้า ที่โหดร้ายผิดมนุษย์ เกินกว่าจิตใจของมนุษย์จะกระทำต่อสัตว์ที่ไม่มีทางสู้ได้

http://www.clipmass.com/movie/117535502213685

แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีการจับสุนัขและแมวไปทำทารุณกรรมเพื่อการบริโภคเป็นอันมาก จนเป็นข่าวโด่งดังสะเทือนใจผู้คนในสังคม เห็นเป็นการสมควรแล้วที่ผู้คนในสังคม ควรจะหันมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ผู้เขียนเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ในส่วนของพฤติกรรมที่ชื่อว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์เหล่านี้เหมาะสม และน่าสนใจในเนื้อหา จึงได้นำมาประกอบบทความให้ได้ศึกษากัน

มาตรา ๑๓ การกระทำดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์

(๑) การเฆี่ยน ทุบตี ฟัน แทง เผา ลวก หรือการกระทำการอื่นใด ซึ่งมีผลทำให้สัตว์เจ็บปวด หรือพิการในลักษณะที่ได้รับทุกข์เวทนา หรือตาย

(๒) ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้งานอันไม่สมควรแก่ประเภท และสภาพของสัตว์ โดยเฉพาะเมื่อสัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา อ่อนอายุ ใกล้คลอด หรือพิการ

(๓) ใช้ยาหรือสารอันตรายต่อสัตว์ โดยประสงค์ให้สัตว์ได้รับอันตรายหรือความทุกข์ทรมาณ

(๔) ใช้พาหนะที่ไม่เหมาะสมแก่การขนส่ง หรือเคลื่อนย้ายสัตว์ ทำให้สัตว์ต้องได้รับความทุกข์ทรมาณ บาดเจ็บ หรือตาย

(๕) เลี้ยงหรือกักขังสัตว์ในที่แคบ ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาณ บาดเจ็บ หรือตาย

(๖) นำสัตว์ที่เป็นอริกันมาไว้ในที่เดียวกัน

(๗) พรากแม่พรากลูกสัตว์ที่ยังไม่หย่านม เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็น

(๘) ทอดทิ้งสัตว์เพื่อให้พ้นภาระ

(๙) ทำให้สัตว์ต้องได้รับความทุกข์ทรมาณ หรือตาย จากการอดอยากขาดอาหาร น้ำหรือการพักผ่อน

(๑๐) เจ้าของสัตว์ไม่ดูแลรักษา ยามสัตว์เจ็บป่วย

(๑๑) ใช้ยาพิษหรือสารพิษเพื่อให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาณหรือตาย

(๑๒) กระทำการใดๆ ให้สัตว์ต้องเสียรูปหรือพิการโดยไม่จำเป็น

(๑๓) การนำสัตว์มาต่อสู้กันหรือประลองกำลังกัน โดยไม่ได้รับอนุญาติ

(๑๔) กระทำ หรือ ฆ่าสัตว์ หรือทำร้ายสัตว์ โดยลุแก่โทสะ

(๑๕) พันธนาการสัตว์เป็นเวลานานเกินความจำเป็น ด้วยเครื่องพันธนาการที่ไม่เหมาะสม

(๑๖) ใช้สัตว์เลือดอุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเหยื่อ หรือเป็นอาหารสัตว์อื่น

(๑๗) บริโภคสัตว์ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่

(๑๘) สังวาส หรือใช้สัตว์กระกอบกามกิจ

(๑๙) ใช้สัตว์ทำงานหรือประกอบกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

(๒๐) สนับสนุนหรือมีส่วนให้ผู้อื่นกระทำการทารุณกรรม

การจัดสวัสดิภาพสัตว์

มาตรา ๑๔ เจ้าของสัตว์ต้องจัดสวัสดิภาพ ให้สัตว์ตามชนิด ประเภท ลักษณะ และอายุของสัตว์ ทั้งนี้ ตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๑๕ การดำเนินการดังต่อไปนี้ ผู้ดำเนินการต้องจัดการสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๑) การเลี้ยงสัตว์

(๒) การฝึกและใช้สัตว์

(๓) การขนส่งสัตว์

(๔) การควมคุมและกักขังสัตว์

(๕) การฆ่าสัตว์

(๖) การนำสัตว์มาให้เป็นรางวัล

(๗) การใช้สัตว์เพื่อการแสดงหรือโฆษณา

(๘) การอย่างอื่นตามความเหมาะสมของสัตว์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะ และอายุของสัตว์นั้นๆ

มาตรา ๑๗ การฆ่าสัตว์ต้องกระทำให้สัตว์ตายอย่างสงบ รวดเร็ว และเจ็บปวดน้อยที่สุด และต้องไม่กระทำในที่สาธารณะหรือต่อหน้าผู้เยาว์ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

From :สมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย)

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ม.27 ป.วิแพ่ง

กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ หมายถึง การใดที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนและการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี

มาตรา 27 ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนและการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ

สั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร

ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่ หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ

ถ้าศาลสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใดๆ อันมิใช่เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาซึ่งกฎหมายหรือศาลกำหนดไว้เพียงเท่านี้ไม่เป็นการตัดสิทธิคู่ความฝ่ายนั้น ในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ ใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ

อธิบาย

ข้อผิดระเบียบที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยในเรื่องการพิจารณา

5285/2537 โจทก์จำเลยท้ากันให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ตัวเลขว่าได้เขียนในคราวเดียวกันหรือเขียนขึ้นในภายหลัง กับตัวเลขดังกล่าวเขียนด้วยปากกาคนละด้ามหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีหนังสือขดให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ในประการแรกมิได้ขอให้พิสูจน์ในประการหลังด้วย จึงไม่เป็นไปตามคำท้า การที่ศาลมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำท้าให้ครบถ้วน จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27

5614/2538 จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้ ช. ต่อสู้คดีแทน ช. จึงมีอำนาจแต่งตั้ง ว. เป็นทนายความแทนจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้โดยไม่ต้องได้รับมอบอำนาจให้แต่งทนายความอีกและ ว. ย่อมมีอำนาจลงนามในคำให้การและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 ได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการต่าง ๆ ที่ ว. ทำแทนจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ และเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา

และในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวโดยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ภาค 1 และให้มีผลตลอดถึงจำเลยที่ 1 ด้วยเพราะหนี้ระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ร่วม

หากเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพิจนิจในกระบวนพิจารณาที่ดำเนินการไปโดยชอบ ไม่ถือว่าเป็นการผิดระเบียบ

3375/25 การที่โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าตกลงกันได้ เกิดจากความสมัครใจของโจทก์เอง เมื่อจำเลยไม่ค้าน ศาลชั้นต้นจึงสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง มิใช่กรณีที่ศาลอนุญาตให้โดยผิดพลาดอันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำสั่งได้ตาม ป.ว.พ. ม.27 ประกอบด้วย ป.ว.อ.ม.15 ที่โจทก์มาอ้างภายหลังว่าถอนฟ้องเพราะจำเลยและ จ.นำความเท็จมากล่าวให้โจทก์หลงเชื่อก็เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องดำเนินคดีแก่จำเลยและ จ.เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เป็นข้ออ้างที่จะนำมาอ้างให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง ที่ได้สั่งอนุญาตไปโดยชอบแล้วได้

6110/31 การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงได้สั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยและพยานจำเลยนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าสมควรจะสืบพยานหรือไม่ มิใช่เป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม มาตรา 27 และคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมีเวลาที่จะโต้คำสั่งนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึง 6 วัน แต่มิได้โต้แย้งไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 (2)

133/49 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง โดยมีสำเนาทะเบียนบ้านแนบท้ายคำร้องซึ่งมีข้อความระบุว่าผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเลขที่ 17/115 ไปที่บ้านเลขที่ 30/5 ก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายตามคำแถลงของโจทก์ นอกจากนี้ตามบันทึกการปิดหมายของเจ้าหน้าที่ศาลก็ระบุว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้รับแจ้งจากบุคคลใกล้เคียงว่า ผู้ร้องได้ย้ายบ้านใหม่แล้ว กรณีเช่นว่านี้นับว่ามีเหตุผลตามสมควรที่ศาลชั้นต้นจะทำการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเสียก่อนว่าในขณะที่มีการส่งหมายนัดไต่สวนนั้น ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ ณ บ้านที่มีการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องหรือไม่ เพราะหากข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้ผู้ร้องเสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนคำร้องให้ทราบข้อเท็จริงแน่ชัดเสียก่อนเช่นนี้ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ

หากเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพิจนิจในกระบวนพิจารณาที่ดำเนินการไปโดยไม่ชอบ ก็ต้องถือว่าเป็นการผิดระเบียบ

1794/2544 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งแรกศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในเวลาดังกล่าว ครั้น

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 โดยมิได้อ้างเหตุสุดวิสัย แม้ศาลชั้นต้นได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก็เป็นการสั่งไปโดยผิดหลง หาเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายไม่ เพราะการใช้ดุลพินิจของศาลนั้นจะต้องใช้ดุลพินิจที่ยืนอยู่บนความถูกต้องตามกฎหมาย มิใช่เป็นการสั่งไปโดยผิดหลง จึงถือไม่ได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ


อาจเกิดจากความหลงลืมของศาลเอง

2994/2543 การประนีประนอมยอมความที่ศาลจะพิพากษาตามยอมได้ ศาลต้องสั่งรับฟ้องคดีนั้นแล้ว

โจทก์ฟ้องพร้อมยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้อง ส่วนคำฟ้องรอไว้สั่งเมื่อไต่สวนคำร้องขออนาถาเสร็จแล้วระหว่างไต่สวนโจทก์จำเลยทั้งหกตกลงกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งให้รับฟ้องโจทก์ จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตาม

ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม คำพิพากษา คำบังคับและหมายบังคับคดีที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่ชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของจำเลย

5369/2543 ข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลชั้นต้นตั้งแต่บัดนั้นแล้วว่า จำเลยเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ จำเลยจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 16 (1)

ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีจำเลยก่อนมีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อมา จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีในเวลาต่อมาภายหลังนั้นเป็นการแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง

หาใช่ที่กรณีที่ศาลชั้นต้นได้ทีคำสั่งประทับฟ้องไว้ในคณะที่ยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร

อาจเกิดจากความไม่รู้ข้อเท็จจริงของศาล

คร.1060/31 เหตุที่ศาลฎีกาได้ทำคำพิพากษาส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง เพราะปรากฏในสำนวนว่าโจทก์มิได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดทั้งที่ความจริงได้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และโจทก์

ได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดแล้ว แต่หลักฐานไปปรากฏอยู่ในสำนวนอื่น การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเกิดจากข้อผิดพลาดดังกล่าวอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาเพิกถอนการอ่านคำพิพากษา และให้ศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษาศาลฎีกาคืน

วรรคสอง ข้อความที่ว่า ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้น แต่ถ้ารู้ในระหว่างพิจารณาต้องยื่นภายใน แปดวันนับแต่วันที่รู้ (รู้ 8 วัน ไม่รู้ก่อนศาลพิพากษา)

5047/2547 หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่างๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

หากคู่ความทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา คู่ความฝ่ายนั้นต้องยกขึ้นอ้างภายใน 8 วันเช่นกัน

5876/2545 การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนศาลมีคำพิพากษาเสมอไปไม่ หากคู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบกระบวนพิจารณาที่ผลระเบียบภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย มาตรา 24 ป.วิแพ่ง

การขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลได้โดยเร็ว ซึ่งถ้าศาลวินิจฉัยให้แล้วเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอ จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีนั้นต่อไป ซึ่งการขอนี้จะทำได้เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น

มาตรา 24 เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไปก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น

ถ้าศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดเช่นว่านี้ จะทำให้คดีเสร็จไปได้ทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่กล่าวแล้วและพิพากษาคดีเรื่องนั้นหรือเฉพาะแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องไปโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

คำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227,228 และ 247

อธิบาย

ต้องเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาข้อเท็จจริงขอตามมาตรานี้ไม่ได้

1187/09 คำสั่งแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เยาว์เป็นดุลพินิจของศาล และเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 และไม่ใช่คำสั่งตามมาตรา 227 หรือ 228 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 226

266/04 จำเลยขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องตนว่า ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม คำสั่งเช่นนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาในระหว่างพิจารณาไม่ได้

ปัญหาข้อกฎหมายที่คู่ความมักร้องขอ ได้แก่ ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องผิดศาล

946/2536 ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นว่า ตามคำฟ้อง และคำให้การข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้แล้วไม่จำเป็นต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้

ผลของการขอ ต้องเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอ และจะทำให้ไม่ต้องมีการพิจารณาคดีนั้นต่อไป จึงจะถือว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 24 หากผลไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอ ทำให้ต้องมีการพิจารณาคดีนั้นต่อไป คดีไม่เสร็จไปจากศาลไม่เป็นการขอตามมาตรา 24

ศาลมีอำนาจหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลเห็นเองว่าอาจทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสำนวนขึ้นวินิจฉัยเองได้โดยไม่จำต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

818/2546 การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานและให้คู่ความรอฟังคำพิพากษานั้นเป็นการสั่งที่ชอบด้วย

ป.วิ.พ. มาตรา 24 และมาตรา 182 (4)

การจะวินิจฉัยให้ตามคำขอหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล

755/05 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ไม่ได้บังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ในปัญหาข้อกฎหมายตามที่คู่ความขอทุกเรื่องถ้าศาลเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่ผู้อ้างเลย คือ เห็นว่าจำเป็นจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้ว จะสั่งรอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาก็ได้

ผลของการขอ

1254/17 การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโดยข้อกฎหมาย มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานโดยอาศัยข้อเท็จจริง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายอันจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้โจทก์จะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยไว้ โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้

79/22 จำเลยให้การว่าโจทก์รับโอนเช็คโดยสุจริต ไม่บรรยายว่าไม่สุจริตอย่างไร ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่ควรต้องสืบพยานตาม ป.พ.พ. ม.916 ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานเป็นการชี้ขาดเบื้องต้นตาม ม.24 โดยวินิจฉัยข้อ

กฎหมายไม่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดี ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา คู่ความอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อน

782/2536 การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้วฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และพิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ตามมาตรา 226

2158/2537 การที่ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยานในวันนัดสืบพยานโจทก์และพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้ความ ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตาม

ป.วิ.พ. มาตรา 24 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์เห็นว่าชอบที่จะมีการสืบพยานต่อไปก็ต้องโดยแย้งคำสั่งไว้มิฉะนั้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 (2)

2012/2542 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย ศาลได้สอบถาม

ข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วและนัดฟังคำพิพากษาเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24

464/2549 คดีก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ได้ พิพากษายกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 24

ถ้าศาลพิพากษาคดีโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบพยานหรือแถลงร่วมกันของคู่ความมาวินิจฉัย ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรานี้
1126/2551 ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลย โจทก์จำเลยแถลงข้อเท็จจริงร่วมกันแล้วขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เพียงประเด็นเดียวศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำพิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษาคดีโดยนำข้อเท็จจริงจากที่คู่ความแถลงร่วมกันมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี ดังนั้น คำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นในกรณีนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 หากโจทก์เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือมีการสืบพยานต่อไปก็ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ มิฉะนั้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 (2) เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 9 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้แต่มิได้โต้แย้งไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 (2)